หน้าเว็บ

การเลือกใช้ ชนิดของถังดับเพลิงให้เหมาะกับ ชีวิต และทรัพย์สิน ที่อยากจะปกป้อง


โจรปล้นบ้านสิบครั้ง ไม่เท่ากับไฟไหม้ครั้งเดียว สำนวนนี้มีความหมายชัดเจนอยู่แล้ว ไฟไหม้นั้นนอกจากจะทำลายทรัพย์สินไปแล้ว ยังสามารถทำลายชีวิตของผู้อาศัยในบ้านได้อีกด้วย  ดังนั้นความรู้เรื่องการปกป้องตัวเองจากอัคคีภัย จึงเป็นความรู้เบื้องต้นที่ ประชาชนทุกคนควรเรียนรู้ไว้เพื่อปกป้องชีวิต และทรัพย์สินของตนเองครับ

สำหรับความรู้เกี่ยวรู้เกี่ยวกับอัคคีภัยนั้น อันที่จริงถ้าจะอธิบายกันอย่างละเอียด ก็ต้องเริ่มจากความสำนึกถึงความสำคัญของภัยจากอัคคีภัย เพื่อจะนำไปสู่การเตรียมตัวรับภัยนั้นด้วยการทำแผนรับมือ และจากแผนรับมือนั้น ก็จะนำไปสู่เรื่องของการซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ ครับ

บทความนี้ก็จะพยายามอธิบายถึงเครื่องดับเพลิงชนิดต่างๆ พอสังเขปครับ  เพื่อที่ท่านผู้อ่านพอที่จะทราบถึง การเลือกซื้อถังดับเพลิง ที่ถูกต้อง กับสถานที่ ที่มันจะถูกนำไปวางหรือแขวนอยู่ครับ

ในการจะเกิดไฟไหม้ขึ้นได้นั้น ต้องประกอบด้วยองค์ประกอบสามอย่าง ก็คือ  อากาศ ( ก๊าซออกซิเจน)  เชื้อเพลิง  และ  ความร้อนครับ ดังนั้นหลักในการจะดับไฟได้ ก็ต้องกำจัด องค์ประกอบของไฟออกไป ซึ่ง การใช้ถังดับเพลิงก็จะลดองค์ประกอบเหล่านี้ คือลดอากาศ และบางชนิดก็ลดความร้อนด้วย

ซึ่งถังดับเพลิงในบ้านเราที่ใช้กันอยู่นั้น ก็มีหลายประเภท  แต่ละประเภทก็มีสารที่ใช้ดับเพลิงต่างๆกันไป จึงเหมาะกับพื้นที่ต่างๆ และชนิดของเพลิงที่ต่างๆ กันครับ โดยมาตรฐานสากลกำหนด ไว้เป็นห้าประเภท คือ เพลิงชนิด  A B C D และ K

เพลิงประเภท A ได้แก่เพลิงที่เป็นการลุกไหม้ของวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิง ทั่วๆ ไป  เช่นการไหม้ของขยะ ไม้ หญ้งแห้ง เป็นต้น

เพลิงประเภท B ได้แก่เพลิงที่เป็นการลุกไหม้ของ ของเหลว และก๊าซที่ติดไฟทุกชนิด เช่นการไหม้ ของน้ำมัน ทินเนอร์ ยางมะตอย ก๊าซติดไฟ เป็นต้น

เพลิงประเภท C ได้แก่เพลิงที่เป็นการลุกไหม้ของ วัสดุด้านไฟฟ้า เช่น สายไฟ ปลั๊ก เป็นต้น

เพลิงประเภท D ได้แก่เพลิงที่เป็นการลุกไหม้ของ สารเคมี หรือ โลหะบางชนิดที่ติดไฟได้  เช่น แอมโมเนียมไนเตรต แมกนีเซียม ซึ่งสารเคมี หรือโลหะ เหล่านี้บางประเภทสามารถทำปฎิกิริยากับ น้ำ หรือสารเคมี ถึงขั้นระเบิดได้ จึงต้องใช้สารเฉพาะในการดับเพลิงประเภทนี้

เพลิงประเภท K  ได้แก่เพลิงที่เป็นการลุกไหม้ของ น้ำมันที่ติดไฟยาก เช่นน้ำมันที่ใช้ประกอบอาหาร

ซึ่งที่ข้างถังดับเพลิง ก็จะมีตัวอักษร อยู่ข้างถังแสดงถึงชนิดของ เชื้อเพลิงที่ถังดับเพลิงนั้นๆ สามารถดับได้ ไว้ครับ

ประเภทของเพลิง
แต่ยังก่อน ก่อนจะไปพูดถุึงชนิดของถังดับเพลิงชนิดต่างๆ ยังมีอีกเรื่องที่ควรทราบ ได้แก่ ตัวเลขแสดง fire rating ที่ อยู่ข้างถังด้วยครับ  ซึ่งถ้าเป็นเครื่องดับเพลิงในบ้านเรือนก็ไม่มีกฎหมายกำหนดไว้ว่าต้องใช้ fire rating ประมาณไหน แต่ ถ้าเป็นของที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมหรือสถานที่ที่เสี่ยงอัคคีภัยร้ายแรง ก็จะมีการกำหนด fire rating ที่มีค่าสูงเอาไว้ครับ  ทั้งนี้ หมายถึงความสามารถในการดับไฟของสารเคมี ที่บรรจุอยู่ในถังดับเพลิงนั้น ว่ามีประสิทธิภาพสูงแค่ไหนนั่นเอง ซึ่งตัวเลขที่มากกว่าของค่า fire rating นั้นก็หมายถึงประสิทธิภาพ และราคาที่สูงกว่า เช่นกันครับ

ถึงเรื่องของ ประเภทของถังดับเพลิงกันเสียที จริงๆ แล้วที่ต่างกัน ก็คือสารที่อยู่ภายในถังนั่นเองครับ ว่าใช้สารประเภทไหน  ถังดับเพลิงที่เราควรรู้จัก ก็มีดังนี้คือ

ประเภทแรกเลย เป็นประเภทที่ใช้กันทั่วไปที่สุดตอนนี้ คือประเภทผงเคมีแห้ง ( Dry Chemical)  ซึ่งสารเคมีนี้ สามารถดับเพลิงประเภทได้ทั้ง ประเภท A B และ C  ข้อดีคือใช้ได้ทั่วๆไป ราคาถูก ส่วนข้อเสียคือ ถ้าใช้แล้วสารจะฟุ้งกระจาย ทำให้พื้นที่บริเวณนั้น สกปรก  ข้อควรทราบคือ ถังดับเพลิงนี้ฉีดได้แค่ครั้งเดียว เมื่อฉีดแล้วจะเก็บไว้ฉีดต่อไม่ได้อีก ต้องนำส่งบรรจุสารใหม่

ประเภทที่สอง คือ ประเภทคาร์บอนไดออกไซด์ ตัวถังอาจมีสีแดงๆ เหมือนกับถังประเภทแรก แต่จุดสังเกตุจากรูปลักษณ์ภายนอกของมันคือที่หัวฉีด จะเป็นปลายกระบอกใหญ่ๆ  เมื่อฉีดออกมา จะเป็นก๊าซที่เย็นจัด คล้ายน้ำแข็งแห้ง ทำให้ลดความร้อนได้ ข้อดีคือฉีดออกมาแล้วไม่ทิ้งคราบสกปรก เหมาะกับการดับเพลิงประเภท B และ C

ประเภทที่สาม คือ ประเภทสูตรน้ำ Water Chemical  ใช้น้ำยาดับเพลิงที่เรียกว่า ABFFC  สามารถใช้ดับเพลิงได้ทุกประเภท ตั้งแต่ A B C D และ K จึงเหมาะกับการซื้อไว้ตั้งวางในครัว เพราะราคาสูงกว่า แบบผงเคมีแห้ง และสามารถดับเพลิงที่เกิดจากน้ำมันได้ ด้วย

ประเภทที่สี่ คือ ประเภทน้ำสะสมแรงดัน  เรียกว่า Water gas หรือ Water pressure ประเภทนี้ใช้ดับเพลิง แบบ Class A ได้ดี เหมาะกับวางไว้ในห้องที่มีเชื้อเพลิงประเภทกระดาษ โรงงานเสื้อผ้า  เป็นต้น

ประเภทที่ห้า คือ ประเภทของเหลวระเหย หรือเรียกว่า สาร Halotron สามารถดับเพลิงประเภท A B C  ข้อดีคือฉีดแล้วไม่ทิ้งคราบสกปรก  แต่มีราคาค่อนข้างสูง เหมาะกับใช้รักษาทรัพย์สินในห้อง clean room หรือ ห้อง server หรือห้องอะไรที่มีทรัพย์สินราคาสูง ติดตั้งอยู่ เนื่องจากเมื่อฉีดไปแล้ว ทรัพย์สินไม่ถูกทำลายไปด้วย

ประเภทที่หก คือ ประเภทโฟม สามารถดับเพลิงประเภท A กับ B  เมื่อฉีดมามีคุณสมบัติพิเศษ เกิดเป็นฟิมล์ ทำให้เชื้อเพลิงไม่ลุกติดขึ้นมาอีก จึงเหมาะมากในการใช้ดับเพลิงประเภท B  และเหมาะใช้นำไปวางในห้องที่มีการเก็บเชื้อเพลิงประเภท ทินเนอร์  น้ำมัน ยางมะตอย เป็นต้น


ถังดับเพลิงที่ใช้ทั่วไป


และเมื่อมีอุปกรณ์แล้ว ก็ต้องฝึกซ้อมแผน ฝึกใช้อุปกรณ์ และหมั่นตรวจตราอุปกรณ์ว่ายังใช้ได้อยู่หรือไม่ด้วยครับ

เลือกใช้ถังดับเพลิง ให้เหมาะกับทรัพย์สินที่มันปกป้องด้วยนะครับ  ถ้าเลือกใช้ผิด ถึงดับเพลิงได้ ทรัพย์สินก็ยังเสียหายอยู่ดี แล้วจะมีประโยชน์อันใดครับ

ตัวอย่างสลากบนถังดับเพลิง


ความปลอดภัย ของไฟฟ้าภายในบ้าน ตอนที่ 1


เชื่อหรือไม่ครับ ว่า ปัญหาไฟไหม้ส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นนั้นมักเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร คือผมก็คิดว่าทุกท่านคงเชื่อกันอยู่แล้วละ เพราะเห็นว่าเกิดเพลิงไหม้ทีไร ก็สันนิฐานว่าเป็นไฟฟ้าลัดวงจรกันไว้ก่อนทุกที  แต่ว่าที่เรียกกันว่าไฟฟ้าลัดวงจรนั้น มันเกิดจากอะไร ตรงไหนละครับที่ลัดวงจร  ไฟฟ้าลัดวงจรนั้น เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่นสายไฟที่เก่า ฉนวนชำรุด เกิดการลัดวงจร  หรือการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เกินกว่าที่สายไฟฟ้าจะรับได้ จนเกิดความร้อนสะสมฉนวนหุ้มสายไฟชำรุด เกิดการลัดวงจรทำให้เกิดลุกไหม้ขึ้นมา

จริงๆแล้ว ปัญหาของไฟไหม้บ้านพักอาศัยนั้น สามารถลดลงไปได้อย่างมาก ด้วยการเรียนรู้เรื่องการใช้ปลั๊กไฟ หมายถึง เต้าเสียบ และเต้ารับ ของปลั๊กไฟ และรวมถึงความรู้เรื่องการใช้สายพ่วง ด้วยครับ

เริ่มจากความรู้เรื่องเต้ารับ เต้าเสียบกันก่อนครับ  สำหรับท่านที่เคยเดินทางไปต่างประเทศ หรือได้ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มาจากต่างประเทศ คงพอจะทราบแล้ว ว่าเต้าเสียบ เต้ารับนั้น มีรุปแบบที่ต่างๆกัน ไปตามแต่ละประเทศ  และก็อาจจะทราบอีกด้วยว่า แรงดันไฟฟ้าที่ใช้อยู่นั้นก็ต่างกันไปในแต่ละประเทศ เราจึงต้องใช้  "หัวแปลงปลั๊กไฟ (Universal Adapter)" มาใช้เพื่อที่ให้เต้ารับ กับเต้าเสียบนั้นเสียบเข้ากันได้  รวมถึงถ้าแรงดันไฟฟ้าไม่เท่ากัน ก็จะต้องมี หม้อแปลงไฟเพื่อเพิ่มหรือลดแรงดันไฟฟ้าให้สามารถใช้งานได้ และเครื่องใช้ไฟฟ้าไม่เสียหาย

ซึ่งหัวเสียบของปลั๊กที่ใช้กันในโลกนี้ ก็มีขากลม ขาแบน  ขาสี่เหลี่ยม ส่วนจะเป็นสองขา สามขา หรือเรียงกันยังไง ก็แล้ว แต่ประเทศนั้นจะใช้   ทีนี้เนื่องจากประเทศไทยของเรามีการนำของประเทศอื่น เข้ามาใช้หลายประเทศ ก็เลยมีหัวเสียบที่เป็นทั้งหัวกลมและหัวแบน  ปลั๊กของบ้านเราก็เลยเป็นหัวแบบ universal คือ สามารถเสียบได้ทั้งกลมและทั้งแบนครับ

ประเภทของเต้ารับ และเต้าเสียบ


ถ้าเป็นปลั๊กในบ้านเรานั้น ก็จะมีแบบที่เป็นทั้งสองขา และก็สามขา  ถ้าเป็นปลั๊กสองขา คือยังไงก็จะไม่มีสายดิน  ส่วนที่เป็นสามขา ก็อาจมีหรือไม่มีสายดินครับ  แล้วสายดินเอาไว้ทำอะไร  คำตอบก็คือ ปกติกระแสไฟฟ้าจะวิ่งอยู่ใน โลกของไฟฟ้าเท่านั้น คือไม่วิ่งออกมาข้างนอก  แต่หากเกิดเหตุการณ์ที่ไฟฟ้าหลุดออกมาจากโลกของไฟฟ้าคือ เกิดที่เราเรียกว่าไฟรั่ว น่ะครับ  ไฟฟ้าถ้ารั่วออกมาข้างนอก ก็จะพยายามหาทางกลับสู่โลกของไฟฟ้า โดยผ่านทางตัวนำสักตัวหนึ่ง ซึ่งตัวนำนั้น ก็อาจเป็นการผ่านทางร่างกายของคนที่อยู่บริเวณนั้นนั่นเองครับ  ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นก็จะมีอันตรายถึงชีวิต  เราสามารถป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้นได้โดยการ ติดตั้งสายดินเข้าในระบบไฟฟ้าของบ้านของเราครับ   เมื่อเราติดตั้งสายดิน  หากเกิดไฟฟ้ารั่ว กระแสไฟฟ้าก็จะไหลผ่านสายดินเข้าสู่ตู้เมนสวิตซ์ ที่บ้านของเรา และตัว ตัดไฟ (Breaker) ก็จะทำการตัดไฟฟ้าในบ้านของเราได้ทันท่วงทีครับ

จะรู้ได้อย่างไร ว่า บ้านของเรามีสายดินอยู่หรือไม่  สังเกตง่ายๆ ครับ

ข้อแรก คือถ้า เต้ารับที่ปลั๊กไฟของบ้านเรามีแค่สองรู ก็รู้ได้เลยว่า ไม่มีสายดินแน่นอนครับ  ปลั๊กที่จะมีสายดินต้องมีสามรู

ข้อสอง ถ้ามีสามรูแล้ว ก็ยังไม่แน่ใจว่ามีสายดินหรือเปล่า ให้ไปซื้อ อุปกรณ์ตรวจสอบมาได้เลยครับ เรียกว่าเครื่องตรวจสอบขั้วเต้ารับชนิดมีสายดิน (Easy Check Outlet) ของการไฟฟ้า เขามีขาย อันละไม่กี่ร้อยบาท ลองเสียบดูที่เต้าเสียบของเรา ก็จะรู้ได้ว่า มีสายดินหรือไม่มีครับ


Easy check outlet

ถ้าไม่มีสายดิน ก็จะได้เรียกวิศวกรไฟฟ้ามาช่วยดู มาออกแบบแก้ไขต่อไป เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินนะครับ