หน้าเว็บ

ที่ประทับรัชกาลที่ 9 : เพลงพระราชนิพนธ์ “ความฝันอันสูงสุด” กับ “เราสู้” ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช



เพลงพระราชนิพนธ์ “ความฝันอันสูงสุด” กับ “เราสู้” ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชหลายคนอาจไม่ทราบว่าเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 43 สำหรับเพลงความฝันอันสูงสุด และลำดับที่ 44 สำหรับเพลงเราสู้

เพลงความฝันอันสูงสุด แต่งขึ้นเมื่อปี 2512 ในรูปบทกลอนแสดงความนิยมส่งเสริมคนดีให้มีกำลังใจทำงานเพื่ออุดมคติเพื่อประเทศชาติ เขียนออกมาเป็น

กลอน 5 บทโดย ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค ต่อมา รัชกาลที่ 9 ทรงใส่ทำนองเมื่อปี 2514

และเพลงเราสู้ ผู้เกี่ยวข้องคือ คุณสมภพ จันทรประภา ได้ประพันธ์กลอนสุภาพ 4 บทจากพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่สมาชิกสภานิติบัญญัติที่เข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน มาเขียนเป็นคำกลอนถวาย เมื่อทรงเกิดแรงบันดาลพระราชหฤทัยที่จะทรงพระราชนิพนธ์เพลง “เราสู้” พระราชทานให้เป็นของขวัญปีใหม่แก่ทหาร อาสาสมัครและตำรวจชายแดน ทรงหยิบซองจดหมายใกล้พระหัตถ์มาตีบรรทัด 5 เส้นเพื่อทรงพระราชนิพนธ์ทำนอง บรรเลงในงานวันขึ้นปีใหม่ 1 มกราคม 2517

สิ่งที่หลายคนอาจไม่ทราบคือ ความฝันอันสูงสุดกับเราสู้เป็นบทเพลงพระราชนิพนธ์ในบรรยากาศที่เมืองไทยถูกภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ ซึ่งกินเวลายาวนานตั้งแต่ช่วงปี 2510-2525


ย้อนกลับมาดูพระราชประวัติ ทรงขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 เมื่อปี 2493 ปีรุ่งขึ้นหรือปี 2494 ช่วงปลายปีก็เริ่มต้นทรงงานเยี่ยมพสกนิกรทั่วประเทศ พระราชกรณียกิจที่ทรงงานจนถึงวาระสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ

โปรแกรมการเสด็จพระราชดำเนินเริ่มต้นที่ภาคกลาง เมื่อปี 2496, ภาคอีสาน ระหว่างวันที่ 2-22 พฤศจิกายน 2498, ภาคเหนือ ช่วงระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์-17 มีนาคม 2501 และภาคใต้ ช่วงระหว่างวันที่ 6-26 มีนาคม 2502

ก่อนที่ประเทศไทยจะเผชิญกับภัยคอมมิวนิสต์คุกคาม ผลของการเสด็จฯทรงเยี่ยมพสกนิกรทั่วประเทศ จากตอนแรกสถานที่ประทับพักค้างแรมของรัชกาลที่ 9 จะใช้จวนผู้ว่าราชการจังหวัดในเส้นทางเสด็จฯ ต่อมาจึงโปรดให้สร้างพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ ในจังหวัดเชียงใหม่เมื่อปี 2504

สร้างพระตำหนักกว๊านพะเยา ในจังหวัดพะเยา เมื่อปี 2514 ภายในศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด สถานที่ประทับซึ่งสมเด็จย่า (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) ทรงงานปีละครั้งเป็นเวลา 7 ปี ติดตามงานเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดแจกชาวบ้านทั้งปลานิล ปลาไน ปลายี่สกเทศ ปลาตะเพียนขาว

สร้างพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ในจังหวัดนราธิวาส เมื่อปี 2516 ทำเลห่างตัวเมือง 8 กิโลเมตร จากพระราชวินิจฉัยว่าเป็นพื้นที่มีปัญหาด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงในขณะนั้น

สร้างพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ ในจังหวัดสกลนคร เมื่อปี 2518 ใช้เป็นศูนย์กลางสำหรับทรงงานเขตภาคอีสาน

แม้แต่พื้นที่สีชมพู อันหมายถึงเคยเป็นพื้นที่สีแดงหรือพื้นที่ถูกยึดครองโดยคอมมิวนิสต์และถูกปราบปรามจนไม่เหลือซากในปัจจุบันอย่าง “เขาค้อ” ในจังหวัดเพชรบูรณ์ รัชกาลที่ 9 ก็ทรงใช้เงินส่วนพระองค์สร้างพระตำหนักทรงงานเขาค้อ เมื่อปี 2527

พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จึงเป็นสถานที่ประทับสำหรับการแปรพระราชฐานเป็นประจำทุกปีเพื่อทรงงานใกล้ชิดกับพสกนิกรของพระองค์ท่าน และกลายเป็นต้นทางโครงการพระราชดำรินับไม่ถ้วนกว่า 4,000 โครงการ

ยกตัวอย่าง เขตภาคเหนือมีภูเขาสลับซับซ้อน คอมมิวนิสต์จึงใช้เป็นที่แฝงตัวเยอะ รัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริให้ใช้เส้นทางที่กรมทางหลวงสร้าง ทางแยกจากถนนสายพิษณุโลก-หล่มสัก หลักกิโลเมตรที่ 100 สำหรับใช้ประโยชน์ทางการทหาร และให้ประชาชนอยู่อาศัยและทำกินตลอดแนวสองข้างทาง

ในครั้งนั้นได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนดำเนินการจนทำให้เกิด “กองอำนวยการลุ่มน้ำเข็ก” ต่อมาหลายต่อหลายโครงการทยอยแจ้งเกิด อาทิ โครงการน้ำพระทัยจากในหลวงเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตามแนวพระราชดำริ คนไทยรู้จักกันดีในชื่อเรียกสั้นๆ ว่า โครงการอีสานเขียว โดยมีกองทัพบกรับเป็นผู้สนองพระราชดำริ

ยังมีโครงการหลวงพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวเขา จูงใจให้เลิกปลูกฝิ่นหันมาปลูกพืชเศรษฐกิจ, มีศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลห้วยยาง อำเภอเมืองสกลนคร เป็นต้น

ในฐานะจอมทัพไทย มีพระราชปณิธานว่าทหารต้องทำหน้าที่ทั้ง “นักรบ นักพัฒนา และนักปกครอง” สะท้อนผ่านบทเพลงพระราชนิพนธ์ความฝันอันสูงสุด ซึ่งขออัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์บางส่วนให้ปรากฏไว้ ณ ที่นี้

“ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ

ขอสู้ศึกทุกเมื่อไม่หวั่นไหว

ขอทนทุกข์รุกโรมโหมกายใจ

ขอฝ่าฟันผองภัยด้วยใจทะนง

จะแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด

จะรักชาติจนชีวิตเป็นผุยผง

จะยอมตายหมายให้เกียรติดำรง

จะปิดทองหลังองค์พระปฏิมา…”


ที่มา : คอลัมน์ ฟรีสไตล์เรื่องบ้าน-บ้าน มติชนรายวัน
เขียนโดย : เมตตา ทับทิม

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น