หน้าเว็บ

หลังคาบ้านเลือกใช้แบบไหนดี?



 

หลังคาบ้าน เป็นส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งของบ้านที่จะช่วยให้น่าดูสวยงาม แต่รูปแบบหลังคาบ้านหรือโครงสร้างแบบไหนล่ะที่เหมาะสมกับตัวบ้าน และสภาพอากาศบ้านเราวันนี้เรามาทำความรู้จักให้มากขึ้นกับโครงสร้างและรูปแบบของหลังคาก่อนตัดสินใจกันดีกว่าค่ะ


โครงสร้างหลังคามีกันอยู่ 2 ประเภท คือ

    1. โครงสร้างไม้ เป็นโครงสร้างที่ทำจากไม้ เหมาะสำหรับบ้านไม้ เพราะการยึดติดกับเสาและคานสามารถทำได้สะดวก แต่มีข้อเสีย คือ ราคาแพง และในปัจจุบันหาไม้ที่มีคุณภาพดีค่อนข้างยาก มีการบิดงอง่าย และมีปัญหาเรื่องปลวก

    2. โครงสร้างเหล็ก เป็นโครงสร้างที่ทำมาจากเหล็ก เหมาะสำหรับทั้งบ้านไม้และบ้านปูน ข้อดีคือราคาถูกกว่าโครงสร้างไม้ สามารถเลือกรูปแบบโครงสร้างได้หลากหลาย แต่ต้องอาศัยช่างที่มีประสบการณ์ในการเชื่อมต่อโครงหลังคาเหล็ก


 

 ส่วนรูปแบบของหลังคานั้นจะมีด้วยกันอยู่ 4 แบบ

    1. หลังคาแบนหรือหลังคาคอนกรีต ทำจากคอนกรีตเสริมเหล็ก นิยมใช้กับบ้านสไตล์โมเดิร์น หลังคาแบบนี้เหมาะกับผู้ที่ต้องการเพิ่มพื้นที่ใช้สอยบนหลังคา แต่ข้อเสียของหลังคาแบนจะมีปัญหาเรื่องของความร้อน เนื่องจากคอนกรีตจะสะสมความร้อนในตอนกลางวัน และคลายความร้อนในช่วงกลางคืน ทำให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกอบอ้าว นอกจากนี้หลังคายังมีความลาดเอียงน้อย ซึ่งเมื่อถึงหน้าฝนอาจเกิดน้ำขัง และมีปัญหารั่วซึมตามมา

    2. หลังคาเพิงหมาแหงน เป็นหลังคาที่ยกให้อีกด้านสูงกว่าอีกด้านหนึ่ง (ด้านหน้าสูงกว่าด้านหลัง) เพื่อให้สามารถระบายน้ำฝนได้ หลังคาแบบนี้จะก่อสร้างง่าย รวดเร็ว และประหยัด ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าตามโครงการบ้านทาวน์เฮ้าส์ต่างๆ จะชอบใช้หลังคาลักษณะแบบนี้ เนื่องจากช่วยลดต้นทุนของการก่อสร้าง ข้อควรระวังของหลังคาเพิงหมาแหงน คือต้องให้หลังคามีความลาดเอียงมากพอที่จะระบายน้ำฝนออกได้ทัน ไม่ไหลย้อนซึมกลับเข้ามาได้

    3. หลังคาทรงหน้าจั่ว เป็นหลังคาที่มีสันตรงกลางและลาดลงทั้ง 2 ข้าง หลังคาทรงนี้เหมาะกับสภาพภูมิอากาศบ้านเราที่สุดเพราะสามารถกันแดด กันฝนและยังสามารถระบายความร้อนใต้หลังคาได้ดีอีกด้วย

    4. หลังคาทรงปั้นหยา เป็นหลังคาที่กันแดดกันฝนได้ทุกด้าน แต่ราคาค่อนข้างแพง เนื่องจากใช้วัสดุมุงมากกว่าหลังคาทรงอื่นๆ และช่างต้องมีฝีมือในการทำงานมากกว่า
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นในการเลือกหลังคาบ้านนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับความชอบของผู้อยู่อาศัย และควรพิจารณาให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมเช่นการป้องกันแดด ฝน และงบประมาณการก่อสร้างด้วยค่ะ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น