หน้าเว็บ

ที่ประทับรัชกาลที่ 9 :ตามรอยพระบาทที่ประทับแห่งความรักและความผูกพัน 2 แห่ง “วังสระปทุม-วังไกลกังวล”


 


วันนี้ชวนตามรอยพระบาทที่ประทับแห่งความรักและความผูกพัน 2 แห่ง “วังสระปทุม-วังไกลกังวล”

แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีสถานที่ประทับหลายต่อหลายแห่ง แต่มีอย่างน้อย 2 แห่งที่มีประวัติศาสตร์แห่งความผูกพันของสายใยครอบครัวราชสกุลมหิดล เรามาเริ่มกันที่วังสระปทุมกันค่ะ

วังสระปทุมสร้างขึ้นโดยรัชกาลที่ 5 เมื่อปี 2459 พระราชทานให้กับ “แม่กลาง” หรือสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา) ซึ่งเป็นพระอัยยิกาหรือย่าของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

เคยใช้เป็นสถานที่จัดงานราชาภิเษกสมรส 2 งานในราชสกุลมหิดล ครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2463 ฤกษ์ดีเพราะเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และเป็นวันพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสระหว่างสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กับหม่อมสังวาลย์ในขณะนั้น ซึ่งภายหลังได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชชนนี

จากนั้นทั้ง 2 พระองค์เสด็จกลับไปศึกษาต่อที่ยุโรปและมีพระประสูติพระราชโอรสพระราชธิดา 3 พระองค์ใน 3 ประเทศ ซึ่งมีพระราชประวัติด้วยว่า สมเด็จเจ้าฟ้าทั้ง 3 พระองค์เรียนหนังสือชั้นต้นจนคล่องภาษาถิ่น เวลาตรัสกันเองจะใช้ภาษาฝรั่งเศส แต่เวลาตรัสกับพระบรมราชชนนีจะใช้ภาษาไทย

กลับมาดูงานราชาภิเษกสมรสครั้งที่สอง จัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2493 ระหว่างรัชกาลที่ 9 กับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ในขณะนั้น และสถาปนาเป็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ



ไม่เพียงแต่เป็นวังที่จัดงานราชาภิเษกสมรสเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่ประทับในวัยเด็กของพระองค์ท่านในช่วงเวลาหนึ่งด้วย จากเดิมที่พระบรมราชชนกประทับที่ตำหนักเขียว วังสระปทุม หลังจากเสด็จไปทรงศึกษาต่อต่างประเทศจนกระทั่งนิวัตพระนครเมื่อเดือนธันวาคม 2471 ทรงมีความตั้งใจจะกลับมาอยู่ถาวร โดยโปรดให้สร้างพระตำหนักใหม่ขึ้นมาเป็นตึกสไตล์ยุโรป สร้างใหม่ให้เป็น “บ้านคนเราจริงๆ ไม่ใช่วังเจ้านาย”


ในปี 2472 พระบรมราชชนกทรงสิ้นพระชนม์จากพระโรควักกะ (ไต) กำเริบประกอบกับมีโรคแทรกซ้อนจากน้ำท่วมปอด หลังจากนั้น ครอบครัวมหิดลยังทรงพำนักอยู่เมืองไทยถึงปี 2476 จึงพาสมเด็จเจ้าฟ้า 3 พระองค์ไปทรงเรียนต่อยังต่างประเทศ จนกระทั่งรัชกาลที่ 9 ทรงนิวัตพระนครถาวรในช่วงปลายปี 2494

จุดเชื่อมต่อจากวังสระปทุมไปยังวังไกลกังวลก็คือ ทั้งพระบรมราชชนนี สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ รัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 โปรดพระราชวังฤดูร้อนหรือวังไกลกังวลเป็นอย่างมาก เมื่อทรงพระเยาว์เวลาปิดเทอมฤดูร้อน จะเสด็จไปทรงพักผ่อนที่หัวหินโดยประทับในโรงแรมรถไฟ

ประวัติศาสตร์ยังจารึกไว้ด้วยว่าเมื่อครั้งในหลวงบรมราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์แล้ว วันรุ่งขึ้นก็เสด็จฯมาฮันนี่มูนที่วังไกลกังวลนี่เอง

ตำนานวังแห่งนี้ สร้างขึ้นโดยเงินส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระราชทานให้สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เมื่อทรงสละราชสมบัติทำให้วังเงียบเหงาท่ามกลางธรรมชาติชายทะเลที่งดงาม ภายในเขตพระราชฐานประกอบด้วยพระตำหนัก 4 แห่ง ได้แก่ พระตำหนักเปี่ยมสุข ปลุกเกษม เอิบเปรม เอมปรีย์

ก่อนนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศโปรดแปรพระราชฐานมาประทับวังไกลกังวลในช่วงฤดูร้อน ประทับได้ครั้งละนานๆ รวมทั้งตอนทรงพักฟื้นพระวรกายก็เสด็จฯมาประทับที่วังแห่งนี้ จนทำให้เมืองหัวหินมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “เมืองพระราชา” หรือ King City

กิจวัตรที่โรแมนติกคือเนื่องจากวันราชาภิเษกสมรสอยู่ในช่วงฤดูร้อน (28 เมษายน) การฉลองวันครบรอบจึงโปรดให้จัดขึ้นที่วังไกลกังวลทุกปี มีการออกร้านพระราชทานเลี้ยง พระองค์ท่านจะทรงดนตรีไปจนฟ้าสาง เมื่อดนตรียุติลงทั้งสองพระองค์จะทรงเรือใบไปด้วยกันยามอรุณรุ่ง โดยมีหมวดเรือใบหลวงตามเสด็จฯห่างๆ

ในด้านพระราชกรณียกิจ นับจากเสด็จนิวัตเมืองไทยเป็นการถาวรเมื่อปี 2494 พบว่า หัวหินเป็นสถานที่แห่งแรกที่ทรงเริ่มสำรวจพื้นที่ ดิน น้ำ อาชีพ การกินอยู่ของราษฎรเนื่องจากเสด็จฯไปแทบทุกปี มีเรื่องบอกเล่าจากความทรงจำของคนพื้นที่เพราะบางครั้งทรงวิ่งจ๊อกกิ้งออกกำลังกายยามเช้า บางครั้งทรงขับรถออกไปสำรวจในเส้นทางทุรกันดาร บางครั้งเสด็จฯไปปิกนิกบริเวณเขาตะเกียบหรือหาดทรายใหญ่บ้าง

อย่าลืมว่าการทรงงานโดยใช้วังไกลกังวลเป็นสถานที่ทรงงานเกิดขึ้นเมื่อ 60 กว่าปีที่แล้ว ไม่ได้มีสิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินทางเหมือนกับในปัจจุบัน ยามที่ฝนตกรถพระที่นั่งตกหล่มจะทรงคุมงานซ่อมถนนชั่วคราวจนกว่าจะไปต่อได้ และถนนสายแรกที่ทรงทำก็คือถนนห้วยมงคล อำเภอหัวหิน

หลังจากนั้น โครงการตามพระราชดำริก็เกิดขึ้นอย่างมากมาย อาทิ โครงการพัฒนาที่ดินรกร้างว่างเปล่าจัดสรรให้ราษฎรใช้ทำมาหากิน เริ่มจากกลุ่มชาวไร่ในเขตนิคมสร้างตนเองเขื่อนเพชร ขยายไปยังหุบกะพง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ขยายรัศมีไปยังจังหวัดใกล้เคียง มีโครงการศิลปาชีพ โปรดเกล้าฯให้โรงเรียนวังไกลกังวลเป็นศูนย์กลางการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมเมื่อปี 2539

มีศูนย์รักษ์สุนัขหัวหิน เป็นหนึ่งในโครงการพระราชดำริเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงอันเนื่องมาจาก “คุณทองแดง” สุนัขทรงเลี้ยง

ล่าสุด ก็คือโครงการชั่งหัวมัน ที่โปรดเกล้าฯสร้างบ้านพักส่วนพระองค์ โดยทรงถือโฉนดและมีพระนามในทะเบียนบ้านเลขที่ 1 โดยทรงขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรทำไร่

ที่มา : คอลัมน์ ฟรีสไตล์เรื่องบ้าน-บ้าน มติชนรายวัน
เขียนโดย : เมตตา ทับทิม

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น