หน้าเว็บ

ที่ประทับรัชกาลที่ 9 : เพลงพระราชนิพนธ์ “ความฝันอันสูงสุด” กับ “เราสู้” ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช



เพลงพระราชนิพนธ์ “ความฝันอันสูงสุด” กับ “เราสู้” ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชหลายคนอาจไม่ทราบว่าเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 43 สำหรับเพลงความฝันอันสูงสุด และลำดับที่ 44 สำหรับเพลงเราสู้

เพลงความฝันอันสูงสุด แต่งขึ้นเมื่อปี 2512 ในรูปบทกลอนแสดงความนิยมส่งเสริมคนดีให้มีกำลังใจทำงานเพื่ออุดมคติเพื่อประเทศชาติ เขียนออกมาเป็น

กลอน 5 บทโดย ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค ต่อมา รัชกาลที่ 9 ทรงใส่ทำนองเมื่อปี 2514

และเพลงเราสู้ ผู้เกี่ยวข้องคือ คุณสมภพ จันทรประภา ได้ประพันธ์กลอนสุภาพ 4 บทจากพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่สมาชิกสภานิติบัญญัติที่เข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน มาเขียนเป็นคำกลอนถวาย เมื่อทรงเกิดแรงบันดาลพระราชหฤทัยที่จะทรงพระราชนิพนธ์เพลง “เราสู้” พระราชทานให้เป็นของขวัญปีใหม่แก่ทหาร อาสาสมัครและตำรวจชายแดน ทรงหยิบซองจดหมายใกล้พระหัตถ์มาตีบรรทัด 5 เส้นเพื่อทรงพระราชนิพนธ์ทำนอง บรรเลงในงานวันขึ้นปีใหม่ 1 มกราคม 2517

สิ่งที่หลายคนอาจไม่ทราบคือ ความฝันอันสูงสุดกับเราสู้เป็นบทเพลงพระราชนิพนธ์ในบรรยากาศที่เมืองไทยถูกภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ ซึ่งกินเวลายาวนานตั้งแต่ช่วงปี 2510-2525

ที่ประทับรัชกาลที่ 9 :ตามรอยพระบาทที่ประทับแห่งความรักและความผูกพัน 2 แห่ง “วังสระปทุม-วังไกลกังวล”


 


วันนี้ชวนตามรอยพระบาทที่ประทับแห่งความรักและความผูกพัน 2 แห่ง “วังสระปทุม-วังไกลกังวล”

แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีสถานที่ประทับหลายต่อหลายแห่ง แต่มีอย่างน้อย 2 แห่งที่มีประวัติศาสตร์แห่งความผูกพันของสายใยครอบครัวราชสกุลมหิดล เรามาเริ่มกันที่วังสระปทุมกันค่ะ

วังสระปทุมสร้างขึ้นโดยรัชกาลที่ 5 เมื่อปี 2459 พระราชทานให้กับ “แม่กลาง” หรือสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา) ซึ่งเป็นพระอัยยิกาหรือย่าของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

เคยใช้เป็นสถานที่จัดงานราชาภิเษกสมรส 2 งานในราชสกุลมหิดล ครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2463 ฤกษ์ดีเพราะเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และเป็นวันพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสระหว่างสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กับหม่อมสังวาลย์ในขณะนั้น ซึ่งภายหลังได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชชนนี

จากนั้นทั้ง 2 พระองค์เสด็จกลับไปศึกษาต่อที่ยุโรปและมีพระประสูติพระราชโอรสพระราชธิดา 3 พระองค์ใน 3 ประเทศ ซึ่งมีพระราชประวัติด้วยว่า สมเด็จเจ้าฟ้าทั้ง 3 พระองค์เรียนหนังสือชั้นต้นจนคล่องภาษาถิ่น เวลาตรัสกันเองจะใช้ภาษาฝรั่งเศส แต่เวลาตรัสกับพระบรมราชชนนีจะใช้ภาษาไทย

กลับมาดูงานราชาภิเษกสมรสครั้งที่สอง จัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2493 ระหว่างรัชกาลที่ 9 กับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ในขณะนั้น และสถาปนาเป็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ