หน้าเว็บ

น้ำท่วม เขาว่าดีกว่าฝนแล้ง พี่ว่าน้ำแห้ง ให้ฝนแล้ง เสียยังดีกว่า จริงหรือ? ปัญหาเรื่องเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ


ปัญหา เรื่องเกี่ยวกับ น้ำ

เราต้องมีน้ำเพียงพอเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค และการเกษตร เป็นหลัก นั่นคือวัตถุประสงค์ที่เรามีเขื่อนต่างๆในประเทศ  โดยวัตถุประสงค์ ของน้ำในเขื่อนนั้น มีเพื่อใช้ในการ

1. อุปโภคบริโภค เลี้ยงสัตว์
2. น้ำสำหรับใช้ในการ อุตสาหกรรม
3. ปล่อยลงไปในแม่น้ำลำคลอง เพื่อไล่น้ำเค็ม รักษาความสะอาดในแม่น้ำ
4. เพื่อการเกษตรกรรม   ( ใช้น้ำ 70% ของน้ำที่ปล่อยจากเชื่อนทั้งหมด)   โดยเฉพาะการปลูกข้าว ใช้น้ำ ราว 1000 ลูกบาศก์เมตร ต่อไร่

น้ำในเขื่อนถูกใช้ทำอะไรบ้าง


ทำไมน้ำไม่เพียงพอ

เนื่องจากในปัจจุบัน ประชากรเพิ่มมากขึ้น ปริมาณการใช้น้ำมากขึ้น  และ ประชากรจำนวนหนึ่ง ไปตั้งรกรากอยู่ในพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ที่ใช้กักเก็บน้ำเดิม  หรือบางส่วน ก็ตั้งรกราก ในพื้นที่ ที่เป็นพื้นที่ที่ใช้ระบายน้ำแต่เดิม  ทำให้ บ้างก็ประสบปัญหาน้ำท่วม เพราะไปอยู่อาศัยในพื้นที่ระบายน้ำ

ทำไมน้ำแล้ง แล้วเขต กทม. ยังน้ำท่วม

1. เป็นเรื่องของ การระบายน้ำ ที่ท่อระบายน้ำฝน ทั่วๆไปในกทม. ระบายน้ำได้ 60 มิลิเมตร ต่อชั่วโมง ถ้าฝนที่ตกมีปริมาณ มากกว่านั้น เช่น 100 มิลิแมตร ต่อชั่วโมง ก็จะเกิดการระบายไม่ทัน และเกิดการท่วมขังได้
2. กรุงเทพ เป็นพื้นที่ ราบ  และหลายพื้นที่เป็น แอ่ง การที่จะให้น้ำไหลลงทะเลได้นั้น  หลายๆจุดต้องใช้เครื่องสูบน้ำช่วย  เพราะน้ำไม่สามารถไหลไปเอง ได้ทั้งหมด  ซึ่งหลายจุดบริเวณที่มีเครื่องสูบน้ำอยู่นั้น ก็มีขยะไปอุดตัน รวมทั้งอุปกรณ์ไม่ทันสมัย ไม่เพียงพอ และขาดการซ่อมบำรุง
3. อุโมงค์ระบายน้ำ (อุโมงค์ยักษ์) ยังทำไม่เสร็จครบ ครอบคลุมทุกพื่นที่ของกรุงเทพ ทำให้หลายพื้นที่ยังมีโอกาสที่จะน้ำท่วมต่อไป

อุดรอยร้าวบ้าน แล้วทาสี แล้วสีไม่เรียบแก้ไขได้อย่างไร


คงจะเป็นเรื่องที่ยากที่จะหลีกเลี่ยงปัญหารอยแตกของผิวบ้าน หรือผิวอาคารที่เป็นคอนกรีตไปได้ครับ  เพราะวัสดุประเภทนี้รับแรงดึงได้น้อย อย่างสาเหตุง่ายๆ เช่น เมื่อเกิดการยืดหดของอุณหภูมิ ก็เกิดรอยร้าวได้แล้ว หรือแม้กระทั่งเกิดจากสาเหตุจากโครงสร้างก็เกิดรอยร้าวได้เหมือนกัน

ทีนี้ถ้าเป็นรอยร้าวประเภทที่ไม่ได้เกิดจากโครงสร้าง และไม่เป็นอันตรายกับผู้อยู่อาศัย เราก็สามารถซ่อมรอยแตกได้เลย ซึ่งโดยมากมักจะใช้วัสดุประเภท epoxy ให้เข้าไปอุดรอยแตกของคอนกรีตไว้  ทั้งนี้การอุดรอยร้าวของคอนกรีตก็เพื่อป้องกันไม่ให้ความชื้นเข้าไปในคอนกรีตเสริมเหล็ก ซึ่งความชื้นนี่เองที่จะทำให้เหล็กเสริมเป็นสนิม และเกิดปัญหาแตกร้าวของผิวอาคารที่มากขึ้น จากการขยายตัวของเหล็กเสริมภายในที่เป็นสนิมครับ

แต่ทีนี้หลังจากที่ซ่อมรอยร้าวไปแล้ว ผิวอาคารก็จะเป็นรอยตามรอยร้าวอยู่ดี ซึ่งทำให้ผิวอาคารไม่สวยงาม และครั้นจะทาสีทับไปเลย สีก็จะไม่เท่ากัน และตรงที่เป็น epoxy ก็อาจทาสีไม่ติดด้วย

วิธีการที่พอจะแก้ไขได้ ก็คือ การเซาะสีเก่าบริเวณที่ซ่อม ออกให้หมด โดยทำให้เป็นบริเวณกว้างพอสมควร  แล้วทาสีรองพื้น หลังจากนั้นค่อยทาสีจริงที่ต้องการทับลงไปครับ

อย่างไรก็ตาม ควรทราบว่าการทาสีนั้น แต่ละครั้งย่อมได้สีที่ไม่เหมือนกันครับ ยังไงก็คงไม่ได้สีเรียบเสมอกันเป๊ะๆนะครับ


รอยแตกร้าวของผิวบ้าน ที่ซ่อมแล้วทาสีไม่เรียบ

ข้อควรรู้ เมื่อจะกู้ สินเชื่อบ้าน และคอนโด


ในการสร้างบ้านนั้น นอกจากปัจจัยด้านวิศวกรรมแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือเรื่องการหาเงินมาจ่ายเงินค่าก่อสร้าง ค่าซื้อ คอนโด หรือบ้าน ซึ่งหากเงินที่เตรียมไว้ไม่เพียงพอแล้ว การกู้เงินมาซื้อบ้านหรือคอนโดจากสถาบันการเงิน ก็คงเป็นหนทางหนึ่งที่ผู้ซื้อบ้านจะเลือก นอกจากการหยิบยืมญาติพี่น้องพ่อแม่ครับ

สินเชื่อเพื่อการเคหะนั้น เป็นสินเชื่อประเภทที่สถาบันการเงินจะปล่อยกู้ระยะที่ยาวนานกว่าสินเชื่อประเภทอื่น  และก็มักจะมีอัตราดอกเบี้ยที่ไม่สูง เมื่อเทียบกับสินเชื่อประเภทอื่นครับ และโดยมาก สินเชื่อเพื่อการเคหะนั้น ก็มักจะมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำๆ ในปีแรกๆ เพื่อลดภาระของเจ้าของบ้านผู้กู้ยืมเงินสินเชื่อ

วันนี้ ช่างมันส์บล็อค จะตอบคำถามที่ถามบ่อยเกี่ยวกับการกู้สินเชื่อเพื่อการเคหะเหล่านี้ และเคล็ดไม่ลับในการเตรียมตัวเพื่อขอสินเชื่อครับ

ข้อแรก  การขอสินเชื่อนั้น สถาบันการเงินมักอยากให้กู้เท่าที่กู้ได้ และโดยมากก็เลยมักจะได้เงินกู้มามากกว่า เงินที่จำเป็นต้องใช้ในการซื้อบ้าน คอนโดเสียอีก  จริงๆ แล้วเงินกู้ที่ได้มานั้น มีต้นทุนทางดอกเบี้ยครับ  เราควรกู้เท่าที่จำเป็น  ซึ่งวงเงินกู้ที่จะได้ปัจจุบันนี้ดูเหมือนจะเพิ่มจากเมื่อก่อนแล้ว วงเงินกู้ที่ได้กันตอนนี้วงเงินสูงสุดอยู่ที่ราว 55-60 เท่าของเงินเดือน  ทั้งนี้ขึ้นกับความน่าเชื่อถือของบริษัทที่เราทำงานอยู่ และอายุงานของเราด้วย

ข้อสอง  ธนาคารจะอนุมัติ เงินกู้หรือไม่ อนุมัติเท่าใดนั้น ก็จะดูจากความสามารถในการใช้คืนหนี้  ดังนั้นถ้ามีหนี้บัตรเครดิต หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล หรือหนี้อื่นๆ อยู่นั้น ก็จะทำให้การอนุมัติเงินกู้สินเชื่อบ้านนั้น ทำได้ยากขึ้น  และโดยเฉพาะเมื่อธนาคารหรือสถาบันการเงินไปตรวจดูที่เครดิตบูโร และพบว่ามีสถาบันการเงินหลายสถาบันมาขอตรวจข้อมูลเครดิตบูโร ของเราไปก่อนหน้านี้  มันอาจแสดงว่า เรากำลังร้อนเงิน ซึ่งบ่งชี้ถึงการอาจจะไม่มีความสามารถในการชำระเงินกู้นั่นเอง

ข้อสาม  ควรมีเงินเก็บ ที่ใช้เป็นหลักฐานในการยื่นขอเงินกู้จากธนาคาร เป็นวงเงินประมาณ 5-10% ของ มูลค่าสินทรัพย์ที่เรากำลังจะขอกู้เงินซื้อ  เงินเก็บนั้นจะอยู่ในรูปแบบของเงินฝาก ก็ได้ หรือในรูปแบบของเงินเก็บในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ของบริษัทฯ ก็ใช้ได้เช่นกัน

ข้อสี่  หากไม่มีรายได้ประจำจากเงินเดือน ก็ยังสามารถกู้ได้โดยใช้หลักฐาน จากการเดินบัญชีธนาคารของเรา  ซึ่งไม่ควรไปปั่นรายได้ ในช่วงที่จะกู้เงิน  เพราะสถาบันการเงินสามารถทราบได้อยู่ดี   หลักฐานการยื่นเสียภาษี ก็สามารถใช้เป็นหลักฐานประกอบการยื่นขอเงินกู้ได้เช่นกัน  เพราะแสดงถึงการมีรายได้

ข้อห้า  ระยะเวลาที่จะให้กู้ ตอนนี้สถาบันการเงิน ก็ให้กู้กันที่ 25-30 ปี กันแล้ว  แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นกับอายุของผู้กู้ด้วย ซึ่งโดยมากจะคิดว่าผู้กู้จะมีอายุไม่เกิน 70 ปี  เช่นถ้า อายุ 50 ปี ณ ตอนที่ขอสินเชื่อก็อาจ ได้ระยะเวลากู้ 20 ปี เป็นต้น  ทั้งนี้ก็ขึ้นกับสถาบันการเงินผู้ให้สินเชื่อ

และธนาคารมักจะให้เราทำประกันชีวิตไว้ด้วยกับวงเงินกู้นั้น โดยนับเอาเบี้ยประกันชีวิตไปรวมกับยอดเงินที่กู้  ซึ่งอันนี้ที่จริงแล้วดีกับผู้กู้ เพราะว่าหากเสียชีวิตในระหว่างที่ยังมีภาระหนี้อยู่ ทางประกันก็จะจ่ายยอดหนี้ที่เหลือให้ ทำให้สินทรัพย์ตกเป็นทรัพย์มรดก และไม่เป็นภาระกับลูกหลานครับ


สี่กฎเหล็กเรื่องการกู้สินเชื่อ เพื่อการเคหะ


เมื่อได้สินเชื่อมาแล้ว ก็จะเข้าถึงช่วงของการต้องผ่อนชำระแล้ว ในการผ่อนชำระนั้น โดยมากผู้ผ่อนชำระมักจะผ่อนชำระหมดก่อนระยะเวลาที่สถาบันการเงินกำหนดไว้  เพราะว่ามีคิดเผื่อไว้อยู่แล้ว และผู้ผ่อนชำระก็มักจะผ่อนเกิน ยอด เพื่อที่จะได้สามารถปิดยอดหนี้ค้างชำระได้เร็ว  ื มีข้อควรรู้ดังนี้คือ

ในช่วงแรก ดอกเบี้ยมักจะต่ำกว่าช่วงการผ่อนชำระช่วงหลัง  ดังนั้นถ้าสามารถทำได้ก็ให้ชำระให้เร็วก็ย่อมดีกว่า  แต่ทางสถาบันการเงิน ก็มักจะมีค่า penalty fee  คือคิดดอกเบี้ยเพิ่มหากเราคืนเงินกู้ทั้งหมดก่อนสามปี เพราะป้องกันการรีไฟแนนซ์ของผู้กู้นั่นเองครับ

ข้อควรรู้เกี่ยวกับการใช้เหล็กเสริมที่ผ่านกรรมวิธีทางความร้อน (Heat treatment) และการต่อเหล็กด้วย coupler ข้อต่อเหล็กเชิงกล เขาทำกันอย่างไร


เหล็ก SD50T
แม้ว่าเหล็กที่ใช้ในโครงสร้างประเภทคอนกรีตเสริมเหล็ก ที่ผ่านกรรมวิธีทางความร้อน ( Heat treatment) จะมีใช้กันแพร่หลายในตลาดของประเทศไทยมาหลายปีแล้ว แต่ก็ยังมีข้อโต้แย้ง กันในเรื่องวิธีใช้ เรื่องคุณสมบัติของมัน ดังนั้นช่างมันส์บล็อค ตอนนี้เราจะมาเขียนถึงเรื่องเหล็กเสริมประเภทนี้อีกที่ครับ

ชื่อเรียกในท้องตลาดของเหล็กประเภทนี้จะต่อท้ายด้วยตัว T ซึ่งถ้าเป็นเหล็ก SD40 ที่ผ่านกระบวนการ Heat treatment ที่เรียกว่า Quench & Temper process ที่จะทำก็จะทำให้ผิวรอบนอกของเหล็กเส้นแข็งและกรอบมากขึ้น

ซึ่งจะมีชื่อทางการค้า เรียกว่า SD40T ถ้าเป็นเหล็ก SD50 ที่ผ่านกระบวนการ Heat treatment ก็เรียกว่า SD50T เป็นต้น

โดยมาตรฐานตามพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ ที่เรียกกันว่า มาตรฐาน มอก. นั้น ก็มีบัญญัติเอาไว้ ใน มอก. 24-2548  ถึงการรับรองการผลิตเหล็กชนิดนี้ โดยมีข้อแตกต่างระหว่างเหล็ก SD ปกติ กับ SDxT ไว้ที่ตรงชื่อทางการค้า แต่วิธีทดสอบ การรับกำลัง รูปร่าง และทดสอบอื่นๆ ใช้มาตรฐานเดียวกันเกือบทั้งหมด ยกเว้นในส่วนของการกระทำใดๆ กับส่วนผิวเหล็กรอบนอก ของเหล็ก SDxT ที่แตกต่างกัน



มอก.24-2548
ข้อแตกต่างในกระบวนการผลิตของเห็น SD40 และ SD40T นั้นอยู่ที่ว่า ในกระบวนการผลิตตรงที่ในกระบวนการผลิตของ SD40T นั้นจะมีการทำให้อุณหภูมิของเหล็กเย็นลงในทันทีที่รีดร้อน จึงทำให้บริเวณผิวนอกของเหล็กประเภทนี้ มักมีความแข็งสูงกว่าเนื้อในของมัน  แต่ก็ทำให้เหล็กนั้นมีคุณสมบัติทางกลที่สูงขึ้น  และความเห็นส่วนตัวผมเชื่อว่าทำการผลิตเหล็กวิธีนี้ทำให้ต้นทุนการผลิตเพื่อให้ได้เหล็กที่มีคุณสมบัติทางกลเทียบเท่า SD40 นั้นก็ถูกลงด้วย

SD50T

แม้เหล็กที่ผ่านกรรมวิธีทางความร้อน Heat treatment จะถูกใช้มานานแล้ว แต่ก็ยังมีปัญหาข้อโต้แย้งสงสัยในหลายประการเช่น

ก. เรื่องของการดัดระหว่างเหล็ก SD40 กับ SD40T แตกต่างกันไหม

 ตอบว่า การดัดงอของเหล็กทั้งสองประเภทนั้น ผ่านการทดสอบด้วยวิธีเดียวกัน  จึงมีข้อจำกัด และข้อควรระวังที่เหมือนๆ กัน  แต่เนื่องจาก เหล็ก ประเภท SD40T นั้น มีผิวที่แข็งกว่า จึงมีโอกาสที่จะเกิดการแตกที่ผิวของเหล็กได้ง่ายกว่า

ข. เรื่องการเชื่อมด้วยไฟฟ้า ของเหล็กประเภท SD40 กับ SD40T แตกต่างกันไหม

ตอบว่า การเชื่อมด้วยไฟฟ้าสามารถเชื่อมได้ในเหล็กทั้งสองประเภท  ทั้งนั้นการเชื่อมเหล็กประเภท SD40T อาจจะเชื่อมได้ยากกว่า เหล็ก SD40 การ preheat ก่อนการเชื่อมจะช่วยทำให้การเชื่อมทำได้ง่ายขึ้น

ค. คุณสมบัติการทนไฟของเหล็ก SD40 กับ SD40T แตกต่างกันไหม

ตอบ  คือไม่ต่างกัน ไม่พบข้อมูลทดสอบทางวิชาการที่ระบุว่าการทนไฟของเหล็กที่ผ่านกระบวนการทางความร้อนจะลดลง  และเหล็กเสริมเหล่านี้อยู่ภายใต้เนื้อคอนกรีตที่ทำหน้าที่ป้องกันเหล็กจากความร้อนฺ อัตราความสามารถในการทนไฟของอาคารนั้นๆ ไม่น่าจะเกี่ยวข้องว่าใช้เหล็กเสริม SD40 หรือ SD40T


ง. การทำ ข้อต่อเชิงกล หรือที่เรียกว่า coupler นั้นทำได้หรือไม่

ตอบว่า สามารถทำได้โดยวิธีการที่ถูกต้อง  อย่างที่ทราบกันแล้วว่าผิวของเหล็ก SD40T มีความแข็งกว่าเนื้อในของมัน  และในกระบวนการทำ เกลียวจะมีการ Forging หรือการขยายหัวก่อนทำเกลียว ซึ่งในกระบวนการขยายหัวนี้อาจทำให้เหล็กแตกได้และรับแรงได้น้อยลง

วิธีการแก้ไขคือการใช้กระบวนการ Soft cold forging ที่สามารถทำให้หัวเหล็กใหญ่ขึ้น โดยไม่มีการแตกและเสียกำลังลง

และวิธีการทำเกลียวก็เช่นกัน ต้องเป็นวิธีที่ไม่กัดเนื้อเหล็กออกไป ทำให้พื้นที่การรับแรงตรงที่ทำเกลียวน้อยลง การทำเกลียวด้วยวิธีการรีดเนื้อเหล็กจนออกมาเป็นเกลียว ( Thread rolling)  ไม่ทำให้สูญเสียเนื้อเหล็กไป และพื้นที่หน้าตัดของเหล็กบริเวณที่ถูกเอามาทำเกลียวก็ยังมีพื้นที่เท่ากับ พื้นที่หน้าตัดของเหล็กก่อนการทำเกลียว

อนึ่ง ในปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่มีมาตรฐานในเรื่องการทำ ข้อต่อเชิงกล ( Coupler) นี้ ดังนั้นควรเลือกซื้อจากผู้ผลิตที่ได้มาตรฐานรองรับจากต่างประเทศ ตัวอย่างเช่น มาตรฐาน BSI  เป็นต้น และควรสนับสนุนผลักดันให้มีมาตรฐานการผลิต Coupler ของประเทศไทยออกมา

วิธีการทดสอบก็เช่นกัน ในปัจจุบันการทดสอบ Coupler นั้น จะทำโดยวิธีการทดสอบ Tensile test เท่านั้น ว่ารอยต่อไม่ถูกทำลาย  แต่ในมาตรฐานของสากลนั้น การทดสอบของ Coupler นั้น ได้รวมไปถึงการทดสอบอย่างอื่นด้วย เช่นการทดสอบ การล้า Fatigue test  และการทดสบ Slip test เป็นต้น

การทำเกลียว

การทดสอบ Tensile test
บทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียนเท่านั้นและไม่รับรองในความถูกต้องและการนำไปใช้อ้างอิง