หน้าเว็บ

บริษัท รับสร้างบ้าน คืออะไร ต่างจาก ผู้รับเหมา อย่างไร ?


วันก่อนได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณวิสิฐ โมไนยพงศ์ครับ ท่านเป็นกรรมการผู้จัดการขอบริษัท ทรี.ดี. เฮ้าซิ่ง จำกัด คือผมตั้งใจจะทำการค้นคว้าเรื่องการสร้างบ้าน ว่าถ้าคนคนนึงคิดจะสร้าง หรือจริงๆควรเรียกว่าปลูกบ้านสักหลังขึ้นมา ต้องทำอย่างไรบ้าง และมีวิธีการขั้นตอนอย่างไรบ้าง  ผมก็เลยได้ทำการค้นคว้าตั้งแต่การหาที่ดิน การถมที่ การออกแบบ จนมาถึงช่วงที่จะก่อสร้างแล้วนี่แหละครับ  จึงได้ทำการเสาะหาว่า มีวิธีการอย่างไรบ้าง มีท่านผู้รู้ที่ไหนบ้าง จนได้มาเจอ คุณวิสิฐ เข้าที่สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านนี่แหละครับ

เราพูดคุยกันถึงปัญหาที่พบบ่อยในการสร้างบ้าน  คือ เวลาคนจะสร้างบ้านสักหลังหนึ่ง เมื่อได้ที่มาแล้ว ก็มักจะไปหาผู้ออกแบบ  แล้วก็เอาแบบไปให้ผู้รับเหมาตีราคา แล้วตกลงสร้างกันขึ้นมาครับ  แต่ปัญหาที่พบกันจนเกิดโต้แย้ง ก็มักจะมีดังนี้คือ

หนึ่ง  เรื่องของแบบ ที่ว่าเข้าใจกันดี ตกลงกันดีแล้ว พอสร้างขึ้นมา มันมักจะไม่เป็นอย่างที่ต่างฝ่ายต่างคิดฝันเอาไว้ ทั้ง สเปค ของอีก อาจไม่ตรงตามที่เข้าใจกันตั้งแต่แรก

สอง  พอเกิดการโต้แย้งกันแล้ว เนื่องจากมีหลายกลุ่มคน ที่ทำงานกันอยู่ในงานบ้านนั้น ทำให้เกิดการเกี่ยงความรับผิดกัน ไม่มีใครยอมรับผิดชอบ หรือกว่าจะรับผิดชอบกันได้ต้องเสียเวลา โต้แย้ง พิสูจน์กัน อยู่นาน

สาม  ในการคัดเลือกผู้รับเหมานั้น  เจ้าของบ้าน ก็มักเลือกผู้รับเหมาถูกที่สุด ส่วนผู้รับเหมา อยากได้งาน ก็ไปสู้ราคากันจนต่ำ บางเจ้า ไม่รู้ต้นทุนของตัวเอง ทำไปทำมา ทุนหมด หรือขาดทุน ก็พาลทิ้งงานกันอีก

ทีนี้ ก็ไปถาม คุณวิสิฐ ว่า แล้วบริษัทรับสร้างบ้านนั้น เป็นทางเลือกที่ดีกว่าอย่างไร ในเมื่อก็เหมือนเป็นคนกลางอีกคนเพิ่มมา ทำแบบนี้ แล้วยังต้องมี คนออกแบบ คนสร้าง อะไรอีก ไม่ทำให้ต้นทุนการก่อสร้างของ เจ้าของบ้าน ยิ่งสูงกันไปใหญ่หรือ?

ได้คำตอบมาแบบนี้ครับ คือ

หนึ่ง  การสร้างบ้าน เป็นความชำนาญพิเศษแบบหนึ่ง ต่างจากผู้รับเหมา ที่เขาอาจทำได้หลายอย่าง แต่ก็ไม่ได้สร้างบ้าน อยู่ทุกวัน  เพราะฉะนั้น คนที่สร้างบ้านอยู่ทุกวัน ย่อมมีความชำนาญมากกว่า

สอง การสร้างบ้านโดยใช้ ผู้รับจ้างสร้างบ้านนั้น ทำให้เจ้าของบ้าน ติดต่อกับกลุ่มของคนแค่กลุ่มเดียว ความรับผิดชอบ ก็ย่อมเป็นของ ผู้รับจ้างสร้างบ้าน นั้น  รวมทั้งการให้บริการหลังการขาย ก็น่าจะทำได้ดีกว่า

สาม  ได้บ้านถูกใจ สร้างเสร็จ แน่นอนกว่า เพราะทำโดยผู้รับสร้างที่มีความชำนาญ รวมถึงมีทุนหมุนเวียน  โดยมาก เพียงพอกว่าการใช้ผู้รับเหมา ในบางกรณี

สี่   มีการรวมกลุ่มก้อน ติดต่อกับธนาคาร ช่วยเหลือลูกค้าในเรื่อง การสินเชื่อบ้านที่จะสร้าง ทำให้ได้เงินเพียงพอต่อการก่อสร้างและตกแต่ง  และมีการจ่ายเงินงวดสินเชื่อ ตรงตามการจ่ายเงินงวดงานของการสร้างบ้าน






สนใจไปติดต่อ สมาคมธุรกิจ รับสร้างบ้าน ดูครับ http://www.hba-th.org/

ผมไม่ได้ค่าโฆษณา ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียใดๆ  เห็นว่า ผู้อ่าน อาจจะได้ประโยชน์ จึงขออนุญาต นำเสนอครับ

การต่อเติมหลังคา ดาดฟ้าเพื่อกันฝน น้ำรั่ว


ปัญหาที่พบบ่อยมาก ในอาคารพาณิชย์ชั้นบน คือปัญหาเรื่องน้ำรั่วซึมลงมาจากชั้นดาดฟ้า เพราะอาคารพาณิชย์เหล่านี้ มีหลังคาเป็นหลังคาแบน ( Flat slab ) ซึ่งหากคอนกรีตมีความเสื่อมสภาพ น้ำก็อาจไหลซึมลงมาตามรอยร้าวได้ หรือปัญหาเรื่องการระบายน้ำ  เช่น การทำความลาดเอียงไม่เพียงพอ รางระบายน้ำมีขนาดเล็กเกินไป หรือมีการอุดตัน  ก็จะทำให้น้ำไหลได้ช้า เกิดน้ำขัง และเกิดปัญหารั่วซึมลงมา หรือจนกระทั่งเกิดปัญหาโครงสร้างเป็นสนิมได้

วิธีจัดการปัญหาตามลำดับ  ดังนี้คือ

ขั้นแรก ควรทำความสะอาดทางระบายน้ำก่อน เพราะการระบายน้ำอาจจะแค่อุดตัน  หากทำความสะอาดแล้วปัญหายังคงอยู่ ให้ทดลอง ปรับปรุงทางระบายน้ำให้มีขนาดที่ใหญ่ขึ้น

ขั้นสอง หากแก้ปัญหาเรื่องการระบายน้ำแล้วยังไม่หาย  การปรับปรุง slope บนชั้นดาดฟ้า เป็นวิธีที่ไม่แนะนำ เพราะเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้กับโครงสร้าง และปัญหาก็อาจจะไม่หาย  ถึงขั้นตอนนี้ สามารถเลือกทำได้สองวิธีคือ วิธีแรก คือการใช้ระบบกันซึม ซึ่งวิธีนี้ สามารถทำได้เลยโดยไม่ต้องขออนุญาต ต่อเติมอาคาร

ส่วนอีกวิธีหนึ่งคือการ ทำหลังคาคลุมดาดฟ้าอาคารนั้น ซึ่งทางกฎหมายแล้ว การต่อเติมหลังคานั้นถือเป็นการต่อเติมอาคาร แบบหนึ่งจะต้องยื่นขออนุญาตกับเจ้าพนักงานท้องถิ่น  เพราะการดัดแปลงเพิ่มลดพื้นที่ส่วนใดส่วนหนึ่งเกินห้าตารางเมตร หรือการเพิ่มน้ำหนักให้กับส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารเกินร้อยละสิบ ของที่ออกแบบไว้ทีแรก ก็ต้องทำการยื่นขออนุญาตกับเจ้าพนักงานท้องถิ่น เช่นกัน รวมถึงการคำนวณนั้น ก็ต้องให้วิศวกรมาคำนวณด้วยครับ

การแก้ปัญหาหลังคาดาดฟ้ารั่วซึม


โดยทั่วๆ ไป เราแนะนำให้ทำหลังคาคลุมดาดฟ้า จะแก้ปัญหาเรื่องฝน เรื่องน้ำรั่วซึมได้ดีกว่า แต่ก็อย่าลืมทำรางระบายน้ำเพิ่มเติมด้วยนะครับ เพื่อไม่ให้น้ำไหลไปรบกวนเพื่อนบ้านได้ครับ

ข้อควรรู้ในการถมดิน สำหรับสร้างสิ่งปลูกสร้าง


เมื่อเราเลือกที่ดินที่จะทำการปลูกสร้างอาคารได้แล้ว สิ่งที่มักจะทำเป็นอันดับต่อไปคือการปรับพื่้นที่ให้เหมาะสมก่อนทำการปลูกสร้างครับ  ไม่ว่าจะเป็นการถางต้นไม้ การรื้อสิ่งปลูกสร้างเดิมถ้ามี หรือการถมดินเพราะพื้นที่ดินนั้นต่ำกว่าถนน หรือต่ำกว่าระดับที่เคยท่วม หรือแม้กระทั่ง ถมดิน เพราะที่ดินที่เราได้มานั้นเป็นพื้นที่แอ่งน้ำกันเลยทีเดียว

การสร้างอาคารบนพื้นที่ใหม่นั้น เรียกได้ว่าส่วนใหญ่ต้องมีการถมดินกัน เพราะการถมดินจะช่วยทำให้พื้นที่สูงขึ้น ถมดินปรับพื้นที่ใช้เป็นที่กองวัสดุ ให้การทำงานให้ได้ง่ายขึ้นด้วยครับ

ข้อควรรู้สำหรับการถมดินนั้น มีดังนี้คือ

ข้อแรก ถ้าดินที่ถมนั้นมีน้ำขังอยู่  หรือไม่มีน้ำขังก็ตาม เราควรจะต้องทราบว่า ระดับที่จะถมดินนั้น มีความลึกเท่าใด ถ้าเป็นระดับที่มีน้ำขังอยู่นั้น แล้วจะสูบน้ำออก ก็ต้องยิ่งระวัง อย่าสูบน้ำออกทีเดียวจนหมด เพราะถ้าน้ำขังอยู่ลึกมาก การเอาน้ำออกทีเดียวจนหมด อาจทำให้ดินพังลงมาได้

และการรู้ว่าระดับที่ถมมีความหนาของดินถมเท่าไหร่ ก็จะช่วยให้ทราบได้ว่า จะต้องใช้เสาเข็มยาวเท่าไหร่ ในการถมดินครับ เพราะเสาเข็มจะต้องยาวเกินชั้นดินที่ถม ลงไปถึงชั้นดินที่รับน้ำหนักของตัวอาคารได้

ข้อสอง  การขุดและการถมที่ดินนั้น มีกฎหมายควบคุมนะครับ ไม่ใช่ว่าจะทำอย่างไรก็ได้  ให้ไปหาข้อมูลเพิ่มเติมที่กรมโยธธาธิการ และผังเมือง  ดูภายใต้พระราชบัญญัติการขุดดินและถมดิน พ.ศ. 2543 ที่ให้อำนาจในรายละเอียด ไว้กับองค์การบริหารส่วนพื้นที่อีกที   กฎหมายนี้มีข้อกำหนดเช่นว่า ถ้าถมสูงกว่าพื้นที่ข้างเคียง ต้องมากการจัดทางระบายน้ำ และถ้าพื้นที่ถมเกินกว่าสองพันตารางเมตร ต้องแจ้งการถมดินนั้นต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดครับ

ข้อสาม การถมดินที่ถมไปสูงๆ อาจต้องมีการทำกำแพงกันดินด้วย

ข้อสี่  เมื่อถมดินเสร็จแล้ว ไม่จำเป็นต้องรอให้ดินมีการยุบตัวก่อน จึงจะทำการก่อสร้างได้ครับ  เพราะยังไงดินก็ต้องยุบตัวอยู่ดี แค่รอให้ดินแห้ง พอจะทำงานได้ ก็สามารถทำงานได้แล้ว

ข้อห้า ดินที่จะใช้ถมนั้น มีหลายประเภทครับ ทั้งดินเหนียว ดินทราย ดินลูกรัง  จะใช้ดินอะไรก็ได้เพราะยังไงเราก็ไม่ได้ใช้ดินเหล่านี้ในการรับน้ำหนักอาคารอยู่แล้ว เราใช้ดินในการปรับพื้นที่ และช่วยให้การทำงานได้ง่ายเท่านั้น

ข้อหก  ดินที่เราถมไปนั้น มันจะต้องทรุดตัวแน่นอนครับ อย่าไปกังวล ขอเพียงการทรุดตัวนั้น เมื่อดินทรุดไปแล้ว บ้านอย่าทรุดตาม และถ้าตัวบ้านส่วนที่ไม่วางอยู่บนเสาเข็ม คือมันวางอยู่บนดินนั้น ทรุดไปจนทำให้เกิดรอยแยก รอยแยกก็อย่าไปดึงตัวบ้านหลัก ให้ทรุดลงไปด้วย

การแก้ไขนั้น เมื่อเกิดดินยุบที่ใต้บ้านจนเป็นโพรงนั้น อย่าเอาดินไปถมตรงที่เป็นโพรง เพราะจะเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้กับดินที่ยุบลงไปก่อนหน้านั้นอีก  และทำให้การยุบของดินลุกลาม  เราแค่เอาอะไรมากันใต้บ้านไว้ไม่ให้เป็นโพรง ป้องกัน สัตว์ร้ายเข้าไปอาศัยก็พอครับ

ข้อเจ็ด  การตกลงกับผู้รับเหมาถมดินนั้น ถ้าเป็นการถมดินทั่วไป ก็อาจตกลงกันเป็นการถมตามความสูง ว่าจะให้ถมสูงถึงระดับใด ครับ  แต่ถ้าเป็นการถมที่ดินสำหรับโครงการ อาจมีรายละเอียดมากกว่านั้น

ข้อควรรู้เกี่ยวกับการถมดิน
หมดแล้วครับ เรื่องถมดิน ดูเหมือนจะหมู แต่ก็เป็นหมูแข็งแรงนะครับ มีความรู้ไว้ ไร้ปัญหากวนใจครับ

อัคคีภัยในตึกสูง : คอลัมน์ฟรีสไตล์ เรื่องบ้าน-บ้าน โดย เมตตา ทับทิม


สังคมไทยได้บทเรียนอะไรจากเหตุเพลิงไหม้ซอยนราธิวาส 18 บ้าง อย่างน้อยก็เป็นอุทาหรณ์สอนคนในสังคมเรื่องความปลอดภัยของอาคารได้เป็นอย่างดี โดยมารยาทเราคงไม่ไปคาดเดาว่าสาเหตุเกิดจากอะไร เพราะอย่าลืมว่าหลังเพลิงสงบ สิ่งที่ตามมายังมีอะไรให้ทำอีกเยอะแยะ หนึ่งในเรื่องยุ่งๆ ก็ยังมีประเด็นการประกันภัยซึ่งทางเจ้าของตึกจะต้องไปถกกับบริษัทประกันอีกมากมาย ในกรณีถ้าทำประกันภัยไว้นะคะ
       เพราะฉะนั้น ปล่อยให้ข้อเท็จจริงของสาเหตุที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้ทำงานของมัน เราอย่าไปยุ่งจะดีกว่า แต่ไหนๆ ก็มีกรณีศึกษาเกิดขึ้นมาอย่างนี้ ปรากฏว่า มีคำถามเข้ามาเยอะแยะมากมาย ไฟไหม้จะทำยังไง ตอนเพลิงกำลังโหมถ้าติดอยู่ในตึกจะช่วยตัวเองได้ยังไง ไฟไหม้เกิดจากอะไร ไฟจะดับเร็วไหม ฯลฯ (แหม! บางคำถามก็ไม่รู้จะตอบยังไง เนาะ)
       วันนี้มีข้อมูลมาแลกเปลี่ยนจาก 2 มุมมอง เริ่มแรกมาจากนักวิชาชีพ ทาง "วสท." ชื่อเต็มๆ คือ "วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์" ตอบรับกระแสตื่นรู้ของสังคมได้อย่างรวดเร็วทันใจ มีการจัดคณะนักวิศวกรลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพอาคาร สรุปลักษณะการลามของไฟอย่างน่ากลัวว่า น่าจะเกิดในห้องนั่งเล่นชั้น 3 แล้วลามขึ้นไปถึงชั้น 9 มีแสงเพลิงและกลุ่มควันนานกว่า 2 ชั่วโมง เฮ้อ! บรรยายแค่นี้พอดีกว่าค่ะ
       กรณีครั้งนึ้นำไปสู่ความร่วมมือในการจัดทำ "มาตรฐานความปลอดภัยด้านอัคคีภัย สำหรับอาคาร 9 ประเภทในประเทศไทย" ถามว่าทำไมต้องมี 9 ประเภท คำตอบสำเร็จรูปคือเป็นคำนิยาม หรือการกำหนดตามกฏหมายควบคุมอาคารนั่นเอง
       อาคาร 9 ประเภทในประเทศไทย หรืออาจจะในโลกนี้ก็ได้ แบ่งรายละเอียด ดังนี้ 1.โรงแรม 2.โรงพยาบาล 3.ห้างสรรพสินค้า 4.โรงงาน 5.สำนักงาน 6.ที่พักอาศัย 7.ตลาดเก่า ชุมชนเก่า หรือตลาดอนุรักษ์ 8.โรงเรียน สถานศึกษา 9.สถานบริการ
       รายละเอียดทางวิชาการถ้าอยากรู้ให้คลิกเว็บไซต์ วสท.ก็แล้วกัน ที่แน่ๆ มีคำแนะนำถึงใครก็ตามที่เป็นเจ้าของอาคารขนาดใหญ่ วิธีการดูคือ มีพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป ถ้าเป็นหอพักอพาร์ตเมนต์ก็มีตั้งแต่ 4 ห้องขึ้นไป เป็นต้น ควรจะต้องให้ความสำคัญด้านการป้องกันและระงับอัคคีภัย 6 จุดหลักด้วยกัน
       เริ่มจาก 1.ระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ เขาบอกว่าทาวน์เฮาส์หรือตึกแถวควรติดตั้งทุกชั้นทุกยูนิต 2. ส่วนประกอบของระบบเตือนภัย ปกติมี 2 อุปกรณ์คือ ระบบแจ้งเหตุซึ่งมี 2 แบบคือแบบอัตโนมัติ (Detector) กับแจ้งเหตุด้วยมือ (Manual Alarm) กับอุปกรณ์ส่งสัญญาณเตือน เสียงจะดังระทึกใจมาก
       3.การติดตั้งถังดับเพลิงแบบมือถือ กฏหมายบอกว่า ถ้าทาวน์เฮาส์หรือตึกแถวสูงไม่เกิน 2 ชั้น ต้องติดตั้ง 1 เครื่อง/1 ยูนิต แต่ถ้าเป็นอาคารประเภทที่เหลือต้องติดตั้งอย่างน้อยชั้นละ 1 เครื่องต่อพื้นที่ไม่เกิน 1,000 ตารางเมตร ระยะห่างก็ควบคุมต้องไม่เกิน 45 เมตร 4.ป้ายบอกชั้นและทางหนีไฟ
       5.ระบบจ่ายพลังงานไฟฟ้าสำรอง เช่น แบตเตอรี่ เครื่องปั่นไฟ ถ้าเกิดเหตุฉุกเฉินจะต้องจ่ายไฟได้ไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง จุดจ่ายไฟที่ต้องมีคือจุดที่มีป้ายทางออกฉุกเฉิน บันไดหนีไฟ ทางเดิน และ 6.บันไดหนีไฟ ซึ่งจะติดตั้ง 1 จุดหรือ 2 จุดขึ้นกับขนาดตัวตึก ได้แก่ ตึกที่สูง 4 ชั้นขึ้นไปแต่ไม่เกิน 23 เมตร (8 ชั้น) หรือมีดาดฟ้า 16 ตารางเมตร กฏหมายให้ติดตั้ง 1 จุด ถ้ามากกว่านี้ ต้องติดตั้ง 2 จุด

ภาพจาก-วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ

       อีกมุมมองมาจาก "บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด" เป็นผู้รับบริหารอาคาร 200 กว่าแห่ง รวบรวมสถิติให้ดูว่า เฉพาะในเขตกรุงเทพๆ มีตึกสูงเกิน 7 ชั้น 3,000 ตึก เป็นตึกสร้างใหม่หรืออายุต่ำกว่า 10 ปีเพียง 33.33% ที่เหลือเป็นตึกเก่าอายุเกิน 20 ปี มีอีกวิธีจะดูตึกเก่าหรือใหม่ก็ขอดูว่าขออนุญาตก่อสร้างก่อนหรือหลังกฏหมายควบคุมอาคารปี 2535
       ถ้ายังน่ากลัวไม่พอ มีข้อมูลแถมมาให้อีกจาก 2 กรม ได้แก่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กับ กรมทรัพยากรธรณี ระบุว่า สถิติปี 2531-2552 ประเทศไทยเกิดอัคคีภัย 47,000 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 3,700 คน เสียชีวิตมากกว่า 1,600 คน มูลค่าเสียหายไม่ต่ำกว่า 28,000 ล้านบาท
       จะเชื่อหรือไม่ก็ตาม เขาบอกว่าแม้กฏหมายจะบังคับให้ออกแบบและวางระบบป้องกันแค่ไหนก็ดีได้แค่ระดับหนึ่ง ในขณะที่จะพบว่าบางอาคารเวลาเกิดเหตุเพลิงไหม้แล้วไม่สามารถควบคุมเพลิงได้ทันนั้น สาเหตุจากไม่มีการตรวจสอบหรือบำรุงรักษาระบบเตือนไฟหรือ Fire Alarm กับระบบสปริงเกลอร์หรือระบบระงับเหตุเพลิงไหม้อย่างสม่ำเสมอ
       นอกจากนี้ พี่ไทยยังเป็นมนุษย์ชอบต่อเติมอาคาร ซึ่งการเปลี่ยนอาคารถือเป็นสาระสำคัญของความปลอดภัยโดยตรง เช่น การกั้นผนังอาคาร ถ้าจะทำเพิ่มก็สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องแจ้งข้อมูลแก่ผู้ออกแบบอาคาร เพื่อจะได้ช่วยกับปรับเปลี่ยนระบบป้องกันอัคคีภัยให้สอดคล้องตามไปด้วย นี่คือตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ แต่สำคัญอย่างคาดไม่ถึง
       จะเห็นว่าไปๆ มาๆ จุดอันตรายที่สุดของความปลอดภัยมักจะเกิดจากจุดอ่อนของคนหรือที่เรียกว่า Human Error เพราะฉะนั้น ลุกขึ้นมาสำรวจอาคารของคุณเองตั้งแต่วันนี้ และร่วมด้วยช่วยกันเป็นส่วนหนึ่งของ "สารวัตรความปลอดภัย" กันเถอะค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน
ฉบับ วันเสาร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2559

บ้านต่ำกว่าถนน จะทำยังไงให้ระบายน้ำได้


หมู่บ้านที่ผมอาศัยอยู่มาตั้งแต่เกิดนั้น เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงมาก แต่ก่อนในเรื่องที่น้ำท่วมครับ  ถ้าเป็นคนรุ่นใหม่อาจไม่รู้จักน้ำท่วมในช่วงปี พ.ศ. 2526 แล้วครับ  ช่วงนั้นพื้นที่ที่แถวสนามกีฬาหัวหมาก มหาวิทยาลัยรามคำแหง ต้องกลายเป็นบ้านริมคลองไปถึงสี่เดือนทีเดียว

หลังจากนั้น ก็มีการปรับปรุงในหลายๆด้าน ทำให้บริเวณนี้น้ำไม่ท่วมอีก ส่วนหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้บริเวณบ้านผมน้ำไม่ท่วมก็ต้องกล่าวถึงโครงการในพระราชดำริของในหลวงฯ ที่หลายโครงการท่านทรงริเริ่มและมีผู้นำไปดำเนินการมาตั้งแต่เหตุการณ์ในครั้งนั้นเองครับ

เหตุอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นหลังจากน้ำท่วมก็คือ มีการยกถนน และปรับปรุงท่อระบายน้ำในถนนบริเวณนี้ ทำให้บ้านหลายบ้าน มีระดับที่ต่ำกว่าระดับถนน ซึ่งเหตุแบบนี้ก็คงเกิดขึ้นกับอาคารในหลายๆบริเวณเช่นกัน คือระดับของถนน สูงกว่าระดับของบ้าน  ทำให้น้ำจากถนนไหลเข้ามาในบ้าน และน้ำในบ้าน ก็ระบายออกไปไม่ได้ครับ

วิธีการแก้ไข ทำได้หลายวิธี เช่น

วิํํํธีแรก ก็ทำการยกบ้าน ตั้งแต่ฐานราก ให้สูงขึ้นทั้งหลังเลยครับ วิธีการนี้ที่บ้านผมเองก็ทำ ทำให้บ้านสูงกว่าถนน มากเลยด้วยซ้ำ แถมได้ห้องใต้ดินมาอีก เพราะจริงๆ มันไม่ใต้ดินหรอกแต่บ้านเรายกมาสูงขึ้นกว่าถนนไปครึ่งชั้นนั่นเอง ก็เลยเกิดห้องใต้ดินแถมมา แต่วิธีนี้จริงๆ ไม่แนะนำ ถ้าอยากจะแค่ระบายน้ำนะครับ เพราะค่าใช้จ่ายสูง และเป็นการขี่ช้างจับตั๊กแตน เปล่าๆ

การเพิ่มความสูงของพื้นชั้นหนึ่งนั้น  หลายบ้านกระทำโดยเพิ่มความสูงของพื้นชั้นล่างอย่างเดียว วิธีนั้นจะทำให้ชั้นหนึ่งมีความเตี้ยลง  และหากเพิ่มความหนาของพื้นโดยให้ฐานรากรับน้ำหนัก พื้นเข้าไปด้วย  อาจทำให้มีปัญหาฐานราก และทำให้อาคารพังไปทั้งหลังได้ครับ  ถ้าจะทำแบบนั้นก็ต้องตัดพื้นชั้นล่างให้ขาดออกจากตัวอาคาร เพื่อไม่ให้ฐานรากต้องรับน้ำหนักของพื้นที่เพิ่มขึ้นมาครับ


วิธีแก้ปัญหาน้ำไหลเข้าบ้าน


อีกวิธีการหนึ่งสำหรับการระบายน้ำ เป็นวิธีที่ง่ายกว่าครับ และเป็นวิธีเดียวกับที่สมัยก่อนที่บ้านผมน้ำท่วมแล้วคุณพ่อผมทำ เพราะเวลาน้ำท่วมมาแล้ว เราคงไม่มีเวลาไปยกบ้าน หรือต่อเติมพื้นให้สูงหรอกครับ  วิธีการ ก็คือ ทำที่เก็บน้ำไว้ในบ้าน เช่นเป็นบ่อนะครับ ยอมให้น้ำเข้ามาแล้วลงไปอยู่ในบ่อนั้น แล้วเราก็สูบน้ำออกไป   ง่ายๆ เท่านั้นเอง ส่วนปั้มก็ให้ใช้ปั้มอัตโนมัติแบบไฟฟ้า แล้วก็เตรียมปั้มดีเซล ไว้ด้วยไว้ใช้ตอนที่ไฟฟ้าดับครับ