หน้าเว็บ

โครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงดิน มีข้อดีอย่างไรและมีผลกระทบอย่างไรบ้าง


เป็นข่าวครึกโครมอีกครั้ง เมื่อนาย Bill Gates มหาเศรษฐีคนดังชาวอเมริกัน โพสท์ข้อความลงใน social media ของตนเอง เรื่องเกี่ยวกับสายไฟฟ้าและสายสื่อสารที่อยู่บนผิวดิน ที่ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ เช่นไฟดับ ไฟไม่พอ หรือแม้กระทั่งการขโมยใช้กระแสไฟฟ้า

ข้อความที่เขียนเอาไว้มีใจความว่าดังนี้ครับ

LIVE WIRES 

"Due to faulty infrastructure, many urban areas suffer (from)fromfrequent blackouts and power cuts, and the electrical grid often doesn’t serve the people who need it most." 

"I’ve visited many cities filled with tangled wires such as those in this photo from Thailand, where people have illegally tapped into the grid on their own to get the power they need—at great personal risk."

ในข้อความก็ระบุชัดเจนว่า รูปมาจากเมืองไทย   ซึ่งหลังจากนั้นก็เกิดกระแสวิพากย์วิจารณ์กันอยู่สักพักหนึ่ง จนทำให้เรื่องการนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงดินนั้น เป็นเรื่องที่คนพูดถึงกันอีกครั้งหนึ่งครับ  ซึ่งที่จริงแล้วเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่แต่ประการใดครับ

บทความนี้เราจะเขียนถึงเรื่องนี้กัน

แท้จริงแล้วประเทศไทย หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรุงเทพมหานครของเรา มีความคิดที่จะนำสายไฟฟ้า และสายสื่อสาร ลงใต้ดินตั้งนานแล้ว และก็เริ่มทำโครงการนำสายไฟฟ้าลงดิน มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 แล้วครับ  โดยหน่วยงานที่เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงกับการจ่ายไฟฟ้าให้กับเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ก็คือ การไฟฟ้านครหลวง ก็ได้ดำเนินการมา จนได้ทำสำเร็จในถนนในกรุงเทพมหานครหลายสาย  เช่นบริเวณถนน สีลม  และถนนสุขุมวิท บางส่วน

การที่สายไฟฟ้ายังอยู่บนดินนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดแต่อย่างใด อย่างในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างประเทศญี่ปุ่นเอง ถ้าสังเกตดู ในถนนสายเล็ก ในบ้านเรือนที่ห่างออกไปจากตัวเมือ ก็ยังใช้สายไฟฟ้าบนดินกันเยอะแยะครับทั้งนี้ ขึ้นกับความจำเป็น ที่ความจำเป็นที่ว่านั้นก็ขึ้นกับเหตุผลหลายๆอย่างครับ

การจ่ายกระแสไฟฟ้านั้น ยึดหลัก ความ "มั่นคง เพียงพอ ปลอดภัย และเชื่อถือได้"  ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินอยู่ดีครับ ด้วยเหตุผลของความมั่นคงทางพลังงาน  ก็เพราะว่า  ด้วยปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ทำให้สายไฟฟ้าที่อยู่บนดิน ไม่สามารถจ่ายไฟได้เพียงพอครับ  ด้วยเหตุผลทางเทคนิค   สายไฟฟ้าที่อยู่ใต้ดินนั้นสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้มากกว่า ด้วยเหตุผลทางเทคนิคครับ

ด้วยเหตุผลนี้ ถนนสายเศรษฐกิจ ในกรุงเทพมหานคร ถึงได้มีสายไฟฟ้าลงใต้ดินไปแล้วไงครับ  เพราะมันจำเป็นไม่เช่นนั้นจะจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ไม่พอ

ส่วนเรื่องผลพลอยได้จากการที่นำสายไฟฟ้า สายสื่อสาร และเสา ออกไปจากถนนไปอยู่ใต้ดินก็คือ ความสวยงามของถนนหนทาง และไม่ต้องมีปัญหาในการที่ต้องมาตัดต้นไม้ หรือปัญหาที่เกิดสายสื่อสารไฟไหม้ อีกด้วยครับ

ซึ่งในการดำเนินการดังกล่าว จำเป็นต้องได้ความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องครับ อันได้แก่

ผู้จ่ายกระแสไฟฟ้า ซึ่งในกรุงเทพมหานคร ก็คือ การไฟฟ้านครหลวง
เจ้าของพื้นที่ ก็คือ กรุงเทพมหานคร  และ ผู้ดูแลการจราจร ก็คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
และเจ้าของสายสื่อสารที่พาดอยู่บน เสาไฟฟ้าเดิม (TOT)  เพราะถ้าเอาเสาไฟฟ้าออกไปแล้ว สายสื่อสารที่พาดอยู่นี้ ก็จะไม่มีที่อยู่  ซึ่งเมื่อพูดถึงสายสื่อสาร ก็ต้องพูดถึงองค์กร ที่มีหน้าที่ดูแล การสื้อสารเหล่านี้ ก็คือ  กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

ดังนั้นเมื่อเร็วๆนี้ ทุกหน่วยงานที่กล่าวมาจึงได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) การร่วมมือการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าและสายสื่อสารโทรคมนาคม แบบสายอากาศเป็นสายใต้ดินครับ  เพื่อเร่งรัดโครงการ สายไฟฟ้าลงใต้ดินทั้งหมด 127.3 กิโลเมตร ในกรุงเทพมหานคร ระยะแรกที่แต่เดิมเป็นโครงการสิบปี ให้ทำเสร็จภายใน ห้าปีให้ได้ ครับ ซึ่งปัจจุบันก็ได้ผู้ดำเนินการในช่วง โครงการนนทรี  ระยะทาง 8.3 กิโลเมตรไปแล้วครับ

ส่วนข้อเสียของการนำสายไฟฟ้า ลงใต้ดิน หลักๆ เลยก็คือราคาครับ ที่แพงกว่าการใช้สายในอากาศถึงสิบเท่าตัว   รวมถึงการใช้ระยะเวลาก่อสร้าง ก็ยาวนานกว่าด้วย  และในช่วงการดำเนินงานนั้น อาจมีการกระทบกระเทือนการจราจร ในช่วงที่ดำเนินการอย่างแน่นอน แต่หลังจาก เสร็จงานไปแล้ว ก็จะได้ถนนที่สวยงาม และความมั่นคง ปลอดภัย ทางการใช้ไฟฟ้าเมื่อดำเนินการเสร็จแล้วครับ

สายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงดิน

การบริหารโครงการกับงานวิศวกรรมควบคุม


โดยสภาพ หรือสถานะของข้อบังคับฉบับนี้ มีสถานะเป็นกฏหมาย เพราะเป็นข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติวิศวกรเป็นอำนาจในการออกข้อบังคับนั่นเอง

เนื่องจากมีผลบังคับเป็นกฎหมาย และมีผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่จึงต้องประกาศลงในหนังสือราชกิจจานุเบกษา ไม่เหมือนกับระเบียบปฏิบัติของสภาวิศวกร ซึ่งใช้เฉพาะในองค์กรของตนเท่านั้น พระราชบัญญัติวิศวกรนี้ เป็นกฏหมายที่ใกล้ตัวของวิศวกรมากที่สุด จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่วิศวกรที่ยังปฏิบัติงานวิศวกรรมอยู่ควรทราบ และติดตามศึกษาให้ทันสมัยอยู่เสมอ

อีกประการหนึ่งผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ควรศึกษากฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดสาขาวิชาชีพวิศวกรรม และวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม พ.ศ. 2550 เพื่อให้เข้าใจว่างานวิศวกรรมนั้นมี 2 ระดับ คือ ระดับงานวิศวกรรมควบคุม และระดับงานวิศวกรรมไม่ควบคุม ซึ่งงานวิศวกรรมควบคุมนั้น ยังสามารถแจกแจงได้เป็น 3 เรื่อง ได้แก่ งานที่ควบคุมประเภทของงานที่ควบคุม และขนาดของงานที่ควบคุม ซึ่งทั้งหมดนี้ได้มีรายละเอียดระบุอยู่ในกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวแล้ว

อย่างไรก็ตาม ผมขอย้ำให้เข้าใจชัดเจนกันอีกครั้งว่า งานวิศวกรรมนั้นประกอบด้วย

1. งานให้คำปรึกษา
2. งานวางโครงการ
3. งานออกแบบคำนวณ
4. งานควบคุมการก่อสร้าง หรือการผลิต
5. งานพิจารณาตรวจสอบ และ
6. งานอำนวยการใช้

สรุปว่า ท่านที่ทำงานวิศวกรรมควบคุมและขอเลื่อนระดับต้องทำความเข้าใจ และเขียนผลงานแสดงลักษณะของงาน หรืองานที่ตนปฏบัติให้ถูกต้อง ในช่องตารางผลงานที่ให้กรอก ซึ่งโดยทั่วๆ ไป ยังมีผู้กรอกข้อความผิดอยู่เสมอๆ ครับ





บทความโดย: คุณประสงค์ ธาราไชย อดีตนายก วสท. 

การใช้ถังดับเพลิง


จากตอนที่แล้ว เราเข้าใจกันถึงเรื่อง การเลือกใช้ถังดับเพลิงให้เหมาะสมกับชนิดของพื้นที่ที่มันควรจะไปวางอยู่ไปแล้วครับ ( http://changmuns.blogspot.com/2016/07/blog-post.html)  ตอนนี้เราก็มาพูดกันต่อถึง ขั้นตอนการใช้ถังดับเพลิงที่ถูกต้องครับ

ดังนี้คือ  จำง่ายๆ ว่า ดึง ปลด กด ส่าย ครับ  สี่ขั้นตอน

วิธีฉีด ก็ตามรูปครับ คือ ดึง ปลด กด ส่าย

การดึง เน้นว่า ให้จับที่หัวฉีดไว้ คือดึงหัวฉีดครับ ไม่ใช่ดึง สลัก  เพราะว่า ต้องจับตรงนี้ไว้ก่อน เพื่อ สารเคมีมันออกมา จะได้ ควบคุมได้

การปลด  คือ การปลดสลักนริภัย ที่หัวถังดับเพลิง เพื่อให้ สามารถฉีดสารเคมีได้

การกด ก็คือ การบีบปั้ม นั่นแหละครับ ให้สารเคมีพ่นออกมา

การส่าย ก็คือ การฉีดสารเคมีครับ ให้เข้าใกล้ไฟประมาณ 2-4 เมตร อยู่เหนือลม และฉีดที่ฐานไฟ  ดูว่าเหนือลมทางไหน ก็ดูว่า หัวไฟ หันไปทางไหน เราก็มาตรงข้ามกับหัวไฟครับ ทางนั้นคือ เหนือลม

สำหรับถังดับเพลิงที่มีอยู่แล้ว ถ้าเป็นประเภทใช้สารเคมีแห้งก็ควรตรวจสอบว่ายังใช้งานได้อยู่หรือเปล่า เพราะว่า บางทีมันเก่าเก็บแล้วครับ  โดยให้เอามากลับหัวดู  ถ้ารู้สึกว่า มันไหลๆ เหมือนของไหล แสดงว่าใช้ได้  แต่ถ้ามัน หล่นมา ตุ๊บๆ แบบของแข็ง แสดงว่ามันแข็งแล้ว เริ่มเสื่อมสภาพ

และถังดับเพลิงประเภทสารเคมีแห้ง เมื่อฉีดไปแล้ว ไม่สามารถเก็บไว้ฉีดได้อีกนะครับ ต้องเอาไปให้ที่ร้านเขาบรรจุให้ใหม่ครับ

วิธีใช้ถังดับเพลิง

รอยร้าวในเสา เกิดจากอะไร อันตรายไหม


ข่าวดังที่ส่งต่อกันทาง social network ถึงโครงสร้างของเสาของห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ที่ดูจะเป็นอันตรายมากครับ  ทำให้ย้อนมานึกถึงเสาของบ้านเรือนของเราเอง ว่าถ้าเห็นรอยร้าวแบบไหนถึงควรจะต้องระมัดระวังในอันตราย  รอยร้าวในเสา รอยแบบไหน เกิดจากสาเหตุอะไร บทความนี้จะพูดถึงเรื่องเหล่านี้ที่เกิดกับเสาที่เป็นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กภายในบ้านครับ

เสา มีหน้าที่หลักคือรับแรงในแนวดิ่ง และก็บางทีก็ถูกแรงด้านข้างกระทำด้วยครับ  ดังนั้นรอยร้าวที่พบก็จะมีรอยร้าวที่เกิดจากภายในของตัวเสาเอง  หรือรอยร้าวที่เกิดจากการที่เสานั้นโดนแรงภายนอกมาประทำครับ

โดยทั่วๆ ไปรอยร้าวที่จะเกิดขึ้น มีดังนี้ครับ เรียงจากความอันตรายน้อยสุดไปถึง อันตรายต่อโครงสร้างมากที่สุดครับ

รอยร้าวที่พบในเสา แบบแรก คือรอยร้าว แบบปูนแตกลายงา  รอยร้าวแบบนี้อาจเกิดจากการยืดหดตัวของคอนกรีต ทำให้เกิดรอยแตกร้าวที่ผิว  แต่ปล่อยรอยร้าวไว้ก็ไม่ดี เพราะว่าอากาศและความชื้นจะเข้าภายในได้ ทำให้เหล็กเสริมที่อยู่ภายในเป็นสนิม ดังนั้นควรปิดรอยร้าวครับ  ด้วยวัสดุประเภท Acrylic  หรือ Polyurethane  เพื่อให้รอยที่ปิดมีความยืดหยุ่นพอควร  หรือจะเลือกใช้วัสดุประเภท epoxy ก็ได้ แต่ไม่เหมาะกับรอยร้าวเล็กๆ และถ้าต้องทาสีทับจะทาสีไม่ติด

รอยร้าวที่พบในเสา แบบต่อมา คือรอยร้าว แบบเป็นรอยร้าว ตรงๆ ลงมาที่ขอบของเสา  รอยร้าวแบบนี้ มักพบทั้งหัวเสา และโคนเสา ซึ่งอาจร้าวจนคอนกรีตกระเทาะออกมา เมื่อเอาคอนกรีตออกมาแล้วดูเหล็กเสริมข้างใน ก็จะเห็นว่า เหล็กนั้นเป็นสนิมครับ  รอยร้าวแบบนี้ ต้องแก้ไขโดยขัดสนิมเหล็กออกก่อน แล้วทาเหล็กด้วยวัสดุกันสนิม แล้วจึงปิดรอยแตกด้วย mortar  บางครั้งถ้าเหล็กเสริมเสียหายมาก อาจต้องมีการนำเหล็กเสริมใหม่เข้าไปติดตั้งแทนครับ  หรือถ้าเสียหายมากกว่านั้น อาจเสริมกำลังเสาโดยใช้วัสดุหุ้มที่ด้านนอกเสาอีกที  ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องให้วิศวกร มาช่วยคำนวณดูครับ

รอยร้าวที่พบในเสาแบบที่สาม ก็คือ รอยร้าว ที่แตกตามนอน เกิดด้านเดียว ของเสา รอยร้าวแบบนี้เกิดจากการที่เสาโดนแรงดัด ซึ่งโดยมากเกิดจากการที่ฐานรากของเสาด้านที่อยู่ตรงข้ามกับรอยร้าวนั้น มีการทรุดตัว   ดังนั้นการแก้ไขรอยร้าวแบบนี้แก้ไขที่เสาอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องไปดูฐานรากที่เสาด้านตรงข้ามของมันด้วยว่ามีการทรุดตัวหรือเปล่า  เพราะถ้าไม่แก้ไขการทรุดตัวของฐานราก ก็จะแก้รอยร้าวไม่หายครับ

รอยร้าวที่พบในเสา แบบที่สี่ ก็คือ รอยร้าวที่เกิดขึ้นเฉียงๆ ที่หัวเสา รอยร้าวแบบนี้ พบเห็นได้น้อยสำหรับบ้านเรือน อาจพบได้ในกรณีที่มีแผ่นดินไหวครับ  เพราะรอยแบบนี้เกิดจากแรงทั้งในแนวดิ่งและแรงด้านข้างมากระทำต่อเสาครับ   รอยร้าวแบบนี้อันตรายและไม่สามารถใช้งานโครงสร้างนั้นได้อีกจนกว่าจะได้รับการแก้ไขครับ

คร่าวๆสำหรับรอยร้าวที่เกิดขึ้นในเสาครับ ถ้ามีปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้างปรึกษาวิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้มาช่วยดูเพื่อความปลอดภัยครับ

ลักษณะรอยร้าวในเสา