หน้าเว็บ

ความรู้เรื่องฐานรากของอาคารบ้านเรือน ในประเทศไทย ตอนที่ 2 ชนิดของเสาเข็ม


จากตอนที่แล้ว เราได้พูดถึง ฐานรากแบบที่มีเสาเข็มและที่ไม่มีเสาเข็มไปแล้ว ตอนนี้เราจะมาพูดถึงฐานรากแบบที่มีเสาเข็มกันครับ  ซึ่งเป็นฐานรากแบบที่ใช้กันมากในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเลย เพราะบริเวณนี้ ดินเป็นดินอ่อน

ฐานรากแบบที่มีเสาเข็มนั้น แบ่งได้เป็นประเภทใหญ่ๆ คือเสาเข็มตอก กับเสาเข็มเจาะ

เสาเข็มตอกนั้นหมายถึงเสาเข็มที่วัสดุทำด้วยอะไรก็ได้  ที่เสาเข็มถูกส่งผ่านเข้าไปในชั้นดินโดยวิธีการตอก จนเสาเข็มจมลงถึงชั้นดินที่รับน้ำหนักได้  ซึ่งในกระบวนการตอกนั้น เสาเข็มจะค่อยๆผ่านชั้นดินลงไปเรื่อยๆ จึงทำให้เสาเข็มประเภทนี้ ได้รับการโอบอุ้มจากชั้นดินที่มันถูกตอกผ่านลงไป จึงมีแรงรับน้ำหนักเสาเข็ม ทั้งจากที่ปลายเสาเข็ม และจากแรงเสียดทานด้านข้าง  ส่วนวัสดุของเสาเข็มนั้น จะเป็นวัสดุอะไรก็ได้ เช่น เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง  เสาเข็มไม้ เสาเข็มเหล็กเป็นต้น

เสาเข็มอีกประเภทหนึ่งคือเสาเข็มเจาะ  ซึ่งเสาเข็มประเภทนี้ทำโดยการขุดดินให้เกิดเป็นช่อง แล้วสร้างเสาเข็มลงในช่องว่างของดินที่ถูกขุด หรือถูกเจาะออกนั้น  ดังนั้นเสาเข็มชนิดนี้จะมีข้อดีคือ ไม่มีการสั่นสะเทือนไปถึงอาคารข้างเคียงจากการตอก เหมือนกับเสาเข็มตอก  รวมถึงการขนย้ายอุปกรณ์เข้าพื้นที่ก่อสร้าง ก็มีส่วนสำคัญในการให้คนเลือกใช้เสาเข็มเจาะเหมือนกัน  แต่ข้อเสียคือราคาแพงกว่าเสาเข็มตอกแน่ๆ  ประมาณสองเท่าของราคาของเสาเข็มตอก

แต่ไม่ว่าจะใช้เสาเข็มประเภทใด วิศวกรก็สามารถคำนวณขนาดของเสาเข็มเพื่อใช้รับน้ำหนักได้  แต่ข้อควรระวังก็คือ เสาเข็มสองประเภทนี้  ถ้าจะเปลี่ยนจากการใช้เสาเข็มตอกมาใช้เสาเข็มเจาะ เราไม่สามารถคำนวณพื้นที่หน้าตัดที่เท่าๆ กันมาใช้ได้เลย  เพราะว่าเสาเข็มตอกนั้นมีแรงเสียดทานด้านข้างตลอดความยาวเข็ม ถ้าเสาเข็มตอกมีขนาดหน้าตัดเท่าๆ กับเสาเข็มเจาะ เสาเข็มตอกจะรับน้ำหนักได้มากกว่า


ชนิดของเสาเข็ม


เคยพบปัญหา เช่นระหว่างก่อสร้าง ตอนแรกใช้เสาเข็มตอกในการก่อสร้าง พอสร้างๆ ไปมีความจะเป็นต้องเปลี่ยนเป็นเสาเข็มเจาะ ทำให้เกิดมีเสาเข็มสองแบบอยู่ในสิ่งปลูกสร้างอันเดียวกัน  แบบนี้ก็สามารถทำได้  แต่ต้องคำนวณขนาด และความลึกของเสาเข็มนั้นด้วย ไม่สามารถใช้พื้นที่หน้าตัดที่เท่ากันมาเปลี่ยนกันได้  จะทำให้เกิดปัญหาครับ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น