หน้าเว็บ

ว่าด้วยเรื่อง สถาปนิก วิศวกร ต่างชาติ ทำงานในประเทศไทย


ท่านที่ติดตามข่าวสารเป็นประจำคงจะเคยเห็นข่าวการเปิดตัว อาคารที่สูงที่สุดในประเทศไทยแห่งใหม่ไปเมื่อเร็วๆ นี้ครับ ซึ่งอาคารแห่งนี้ใช้เวลาสร้างมาตั้งแต่ช่วงปี 2011 แล้ว และมีการเปิดตัวอย่างอลังการตั้งแต่เริ่มสร้างโครงการ จนถึงวันที่โครงการเสร็จ ก็เปิดตัวกันอีกที อย่างอลังการมากทีเดียว

เนื่องจากโครงการนี้ มีการตั้งระดับของตัวเองไว้เป็นระดับโลก ดังนั้นทุกสิ่งอย่างที่ใช้ก็ต้องเป็น "ระดับโลก" ทั้งหมด เพราะกลุ่มลูกค้าของเขา เป็นลูกค้าต่างชาติจากทั่วโลกนี่ครับ  ซึ่งก็แน่นอนรวมถึงการออกแบบ และการก่อสร้างด้วยครับ  ต้องใช้ "ระดับโลก"  ดังนั้นตั้งแต่วันที่เปิดตัวแล้ว ก็มีการเปิดตัวผู้ออกแบบ เป็นสถาปนิกต่างชาติชาวเยอรมันชื่อดัง ที่มีนามว่า Mr. Ole Scheeren ซึ่งตอนนั้นเป็นพาร์ตเนอร์ของ Office of Metropolitan Architecture (OMA)  ส่วนผลงานที่ดังๆของเขาที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ก็คือ อาคาร ซีซีทีวี แห่งกรุงปักกิ่งครับ ที่เปิดตัวไปเมื่อโอลิมปิกที่ปักกิ่งในปี 2008 ซึ่งภายหลัง Ole Scheeren ได้แยกตัวจาก OMA มาตั้งบริษัทของตัวเอง ชื่อ Buro Ole Scheeren ( http://buro-os.com/ )  ซึ่งก็แน่นอน ว่าทั้งตัวบริษัทเอง และตัวสถาปนิกเอง ไม่ใช่บริษัทไทย และไม่ใช่สถาปนิกชาวไทยครับ

CCTV headquarters ( Photo from wikimedia.org) 
เนื่องจาก Mr. Ole Scheeren เป็นสถาปนิกต่างชาติ รวมถึงบริษัทที่ไปยื่นขออนุญาต สร้างอาคารนั้นแม้จะเป็นบริษัทไทย แต่ก็ไม่ได้รับอนุญาต ให้ประกอบวิชาชีพสถาบนิก ตามพระราชบัญญัติสถาปนิก ปี 2543  จึงทำให้เกิดเป็น ประเด็นขึ้นมาครับ   และทางสภาสถาปนิก ในสมัยที่มี พลเรือเอก ฐนิธ กิตติอำพน เป้นนายกสภาสถาปนิก ก็ได้ แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี ไว้ตั้งแต่ปี 2554  

ซึ่งจากครั้งนั้น ก็มีปัญหาเรื่อง กรุงเทพมหานคร ไม่ส่งแบบที่ใช้ขออนุญาต มาให้พนักงานสอบสวน ส่งผลให้ อัยการมีความเห็นว่า หลักฐานไม่ครบจึงไม่ส่งฟ้อง ไปครับ   

ล่วงเลยจนมาถึงเปิดอาคารในปีนี้ ก็ยังมีคนเอาเรื่องสถาปนิกต่างชาตินี้ขึ้นมากล่าวถึงอีก และทางสภาสถาปนิกเอง โดยท่านนายกสภาสถาปนิกคนปัจจุบัน ก็ยืนยัน จะติดตามเรื่องนี้ต่อไป


อาคารมหานคร ภาพจาก thaisohot.com
เรื่องการใช้สถาปนิก ต่างชาติ นั้นไม่เป็นเรื่องที่ผิดปกติแต่อย่างใด ในเมื่อลูกค้าของ ผู้ประกอบการเป็นต่างชาติ  การใช้สถาปนิกต่างชาติก็ย่อมช่วยเรื่องความมั่นใจ และในเรื่องของการขาย รวมถึงความสวยงาม และความพึงพอใจ ย่อมเป็นของผู้ประกอบการอยู่แล้ว ว่าจะเลือกทำอย่างไรครับ

ทั้งนี้กฎหมายที่ควบคุมเรื่องอาชีพ ที่สงวนไว้สำหรับ คนไทย ก็มี เช่น พระราชบัญญัติแรงาน  พระราชบัญญัติสถาปนิก  พระราชบัญญัติวิศวกร เป็นต้น   ทั้งนี้เพราะอาชีพบางอาชีพนั้นกฎหมายไทยเห็นว่า เป็นอาชีพที่ต้องควบคุม และสงวนไว้ให้กับคนไทยเป็นคนทำ

แต่ทั้งนี้กฎหมายไทยก็ไม่ได้ปิดช่องในการให้สถาปนิกต่างชาติเข้ามาทำงานในไทยไว้ทั้งหมด มีช่องทางสามารถให้ทำได้  แต่ต้องร่วมทำงานกับสถาปนิกไทย  ทั้งนี้เพื่อให้ถ่ายทอดความรู้ให้กับสถาปนิกไทยด้วย

โดยปัจจุบัน ช่องทางที่สถาปนิกต่างชาติจะทำงานในประเทศไทยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ก็มีอยู่สองช่องทางใหญ่ๆคือ 

หนึ่ง เป็นสถาปนิก ใน ASEAN Economic Community (AEC) สามารถขึ้นทะเบียนบุคคล กับสภาสถาปนิก ได้เลย ถ้าเข้าเงื่อนไขที่สภาสถาปนิกกำหนด 

สอง คือการทำงานในบริษัทนิติบุคคลไทย ที่ขึ้นทะเบียนนิติบุคคลกับกระทรวงพาณิชย์ โดยการหาสถาปนิกชาวไทย มาถือหุ้น 51% และต่างชาติถือหุ้นได้ไม่เกิน 49% 

ส่วนตัวผมเอง ไม่ได้มีความเห็นต่อต้านสถาปนิก หรือวิศวกรต่างชาติแต่ประการใด ผมมีความเห็นว่า การที่มีต่างชาติเข้ามา ก็ช่วยให้สถาปนิก และวิศวกรในประเทศได้พัฒนาตัวเอง ไปด้วย ทั้งนี้หากเป็นเรื่องว่าด้วยเทคโยโลยีใหม่ๆ  เราก็ต้องเข้าไปเรียนรู้ เพื่อให้บุคคลากรของประเทศเราพัฒนายิ่งๆขึ้นไปครับ  ยกตัวอย่างเช่นงานสนามบินสุวรรณภูมิ ที่เราสร้างกันตอนเฟส ที่หนึ่งนั้น ครั้งนั้นก็ใช้วิศวกร ต่างชาติเยอะมาก เพราะเป็นงานที่ วิศวกรไทยไม่เคยมีใครทำมาก่อน เพราะงานสร้างสนามบินขนาดใหญ่เช่นนั้นก็เป็นงานที่ไม่สร้างกันบ่อยๆ   แต่พอถึงสุวรรณภูมิเฟสที่สอง วิศวกรไทยก็ทำกันเองเป็นแล้ว ก็ลดการใช้บุคคลากรต่างชาติไปได้เยอะครับ  

ทำไมห้ามต่อเติมบนรั้วโครงการ บทความโดย คุณสมจิตร์ เปี่ยมเปรมสุข



การต่อเติมครัวหลังบ้านของทาวน์เฮ้าส์ หรือบ้านทั่วไปนั้น มีหลายหลังที่ต่อเติมโดยใช้รั้วของโครงการเป็นส่วนหนึ่งของผนังของส่วนต่อเติมไปเลย หรือกรณีที่หนักกว่านั้น มีการใช้เสาของรั้วโครงการเป็นเสารับน้ำหนักของส่วนต่อเติมเลย

ปัญหาที่พบจากการต่อเติมบนรั้วโครงการมีดังนี้
1. ผนังส่วนต่อเติมแตกร้าว แยกตัว ตามแนวรั้วเดิมกับส่วนต่อเติม โดยเฉพาะถ้ามีการบุด้วยกระเบื้องจะพบรอยแตกร้าวได้ง่าย
2. ผนังเกิดการทรุดตัว แตกร้าว แยกตัวจากตัวอาคารเดิม
3. ชายหลังคาหรือรางน้ำ มักจะล้ำเข้าไปในพื้นที่ข้างเดียว ทำให้เกิดปัญหาขัดแย้งกัน จนอาจต้องรื้อหรือแก้ไขส่วนต่อเติมที่ได้ทำไปแล้ว

ทำไมถึงไม่ควรต่อเติมโดยใช้รั้วโครงการเป็นส่วนหนึ่งของส่วนต่อเติม

1. รั้วโครงการถือเป็นสาธารณูปโภคของโครงการ เป็นโครงสร้างส่วนกลาง ไม่ใช่ทรัพย์สินของเจ้าของบ้าน เนื่องจากรั้วโครงการก่อสร้างขึ้นเพื่อกำหนดขอบเขตแยกพื้นที่ส่วนตัวกับพื้นที่ส่วนกลาง
2. ฐานรากและโครงสร้างของรั้ว ออกแบบเพื่อรับน้ำหนักของตัวรั้วเอง ไม่ได้เผื่อสำหรับการต่อเติม ดังนั้น ขนาดและจำนวนเสาเข็ม, ขนาดและจำนวนเหล็กเสริมในคานและเสารั้ว จึงมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก
3. รั้วโครงการที่บริเวณขอบโดยรอบโครงการที่อยู่ติดลำราง, คลอง หรือระดับดินที่มีการถมสูง มีโอกาสที่จะล้มเอนได้ง่าย ดังนั้น ไม่ควรไปก่อสร้างต่อเติมอาคารใด ๆ ติดกับรั้วดังกล่าว เพราะหากรั้วดังกล่าวมีปัญหาเอนล้มลง ส่วนกลางของหมู่บ้านจะเป็นผู้รับผิดชอบแก้ไขให้ แต่หากเจ้าของบ้านมีการต่อเติมติดกับรั้วดังกล่าว นอกจากส่วนต่อเติมจะเสียหายตามรั้ว ปัญหาที่จะตามมาคือต้องมาพิสูจน์ว่ารั้วพังลงเนื่องจากการต่อเติมนี้หรือไม่
4. ในกรณีที่ท่านเจ้าของบ้านไม่ได้ทำการต่อเติมใดๆ เลย แต่บ้านข้างเคียงมีการต่อเติมบนรั้วโครงการแล้วเกิดความเสียหาย แตกร้าวหรือทรุด ก็จะทำให้ท่านเจ้าของบ้านได้รับผลกระทบด้วย เนื่องจากใช้รั้วร่วมกัน และถ้ามีการต่อเติมโดยใช้รั้วดังกล่าวร่วมกันอีก ก็จะยากที่จะพิสูจน์ได้ว่า ความเสียหายที่ผนังร่วมกันนั้นเกิดจากใคร

ปัญหาการต่อเติมของทาวน์เฮาส์



ข้อแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการต่อเติมพื้นที่ให้ชิดรั้วโครงการ

ก่อนการคิดจะต่อเติม สิ่งแรกที่ท่านเจ้าของบ้านจะต้องรู้และรับสภาพก็คือ การต่อเติมดังกล่าวผิดกฎหมาย ถึงแม้นว่าจะยอมล้นระยะจากแนวรั้ว 50 เซนติเมตรก็ตาม โดยเฉพาะทาวน์เฮ้าส์หรือตึกแถวตามกฎหมายที่ว่างด้านหลัง ห้ามก่อสร้างต่อเติมใด ๆ ทั้งสิ้น ดังนั้น ควรมีการพูดคุยกับบ้านข้างเคียง และการก่อสร้างต่อเติมพยายามให้รบกวนบ้านข้างเคียงให้น้อยที่สุด

1. ไม่ว่าจะใช้เสาเข็มสั้น หรือเสาเข็มเจาะ ต้องแยกส่วนโครงสร้างพื้นและคาน ส่วนต่อเติมกับรั้วโครงการโดยรอบ โดยการกั้นด้วยโฟมหนา 1-2 เซนติเมตร เพื่อป้องกันปัญหาส่วนต่อเติมดึง หรือรั้งให้รั้วโครงการแตกร้าวเสียหายได้
2. การต่อเติมโดยเชื่อมต่อกับรั้วโครงการ นอกจากจะทำให้รั้วเกิดความเสียหายจากการทรุดตัวแล้ว ยังอาจทำให้ส่วนต่อเติมของบ้านข้างเคียงที่ก่อสร้างต่อเชื่อมกับรั้วโครงการเช่นเดียวกับท่านเสียหายตามไปด้วย
3. การต่อเติมชิดพื้นที่ ต้องพิจารณาเรื่องน้ำฝนที่จะไหลไปรบกวนบ้านข้างเคียง ซึ่งต้องมีการใส่รางน้ำเพื่อรับน้ำฝน และรางน้ำนั้นจะต้องไม่ยื่นเกินขอบเขตที่ดินของตัวเอง
4. ไม่ควรเปิดช่องหน้าต่าง หรือช่องระบายอากาศ ในผนังด้านที่ติดกับบ้านข้างเคียง เพราะจะทำให้กระทบความเป็นส่วนตัวหรือรบกวนบ้านข้างเคียงเป็นอย่างมาก


การต่อเติมทาว์เฮาส์ไปชิดรั้ว



"บทความโดย: สมจิตร์ เปี่ยมเปรมสุข ประธานคณะกรรมการคลินิกช่าง"

เครื่องตรวจจับควัน (Smoke detector) อีกหนึ่งอุปกรณ์ความปลอดภัย ที่ควรมีไว้ประจำบ้าน


อุปกรณ์ความปลอดภัยอีกอย่างที่ทุกบ้านควรมีไว้ ก็คือ เครื่องตรวจจับควัน หรือ Smoke Detector ครับ ที่จริงแล้วอุปกรณ์เตือนภัย ที่ส่งสัญญาณเวลามีไฟไหม้นั้น มีหลายประเภท แต่ เครื่องตรวจจับควัน เป็นอุปกรณ์ ที่เหมาะที่จะใช้ในบ้าน และที่พักอาศัยมากที่สุด  เนื่องจากเชื้อเพลิงที่อยู่ในบ้านเรือนนั้น เป็นเชื้อเพลิงประเภท เสื้อผ้า อาหาร และอื่นๆ ที่จะเกิดควันหลังจากเกิดอัคคีภัย    และเมื่อเกิดควันขึ้น เครื่องตรวจจับควันก็จะสามารถส่งสัญญาณเตือน ให้ผู้อยู่อาศัยในบ้าน รู้ตัวและหนี หรือดับไฟได้ทัน

เครื่องตรวจจับควันที่ใช้กันภายในบ้านนั้น เป็นประเภทที่ไม่ต้องเดินสายไฟ เพราะทำงานได้โดยใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ และสามารถติดตั้งได้สะดวก ติดตั้งเองก็ได้ ส่วนราคาก็ไม่กี่ร้อยบาทครับ  ส่วนวิธีเลือกซื้อ ก็เนื่องจาก ประเทศไทยยังไม่มีมาตรฐานการผลิตสำหรับเครื่องตรวจจับควัน เราก็สามารถเลือกซื้อได้โดยเลือกเครื่องตรวจจับควันที่ ได้มาตรฐาน Underwriters Laboratories Inc. (UL) เป็นมาตรฐานระดับสากลที่ทำมาตรฐานด้านความปลอดภัยมากว่า 100 ปี แล้วครับ

ตำแหน่งที่ติดตั้ง ก็ควรติดตั้งในตำแหน่งที่เมื่อเครื่องตรวจจับควัน ส่งสัญญาณเตือนแล้ว ผู้อยู่อาศัยภายในบ้านจะได้ยิน  เช่นติดตั้งตรงโถงบันได หน้าห้องนอน   หรือติดตั้งที่โถงชั้นล่าง โดยทั่วไปก็ควรจะมีอุปกรณ์นี้อยู่ชั้นละหนึ่งตัว

เครื่องตรวจจับควัน


การบำรุงรักษา

หลักการทำงานของเครื่องตรวจจับควันที่ใช้กันอยู่ส่วนใหญ่ในตอนนี้คือใช้หลักการ photo electric คือใช้แสงเป็นตัวตรวจวัดควัน  ดังนั้นเมื่อใช้เครื่องตรวจจับควันไปนานๆ ต้องมีการทำความสะอาด เพราะฝุ่นอาจเข้าไปเกาะ ทำให้เครื่องทำงานผิดพลาดได้ครับ  รวมถึงเปลี่ยนแบตเตอรี่ด้วย โดยทั่วไปแบตเตอรี่มีอายุใช้งานได้เป็นปี  นอกจากนั้น เครื่องตรวจจับควัน จะมีปุ่มทดสอบด้วยว่า เครื่องยังทำงานปกติอยู่หรือเปล่า  เราก็ควรทดสอบดูเป็นระยะๆ


เครื่องตรวจจับควัน


อุปกรณ์ชิ้นนี้เป็นอุปกรณ์ที่มีราคาไม่แพง แต่มีประโยชน์มากมาย และทุกบ้านควรติดตั้งไว้ครับ