การต่อเติมครัวหลังบ้านของทาวน์เฮ้าส์ หรือบ้านทั่วไปนั้น มีหลายหลังที่ต่อเติมโดยใช้รั้วของโครงการเป็นส่วนหนึ่งของผนังของส่วนต่อเติมไปเลย หรือกรณีที่หนักกว่านั้น มีการใช้เสาของรั้วโครงการเป็นเสารับน้ำหนักของส่วนต่อเติมเลย
ปัญหาที่พบจากการต่อเติมบนรั้วโครงการมีดังนี้
1. ผนังส่วนต่อเติมแตกร้าว แยกตัว ตามแนวรั้วเดิมกับส่วนต่อเติม โดยเฉพาะถ้ามีการบุด้วยกระเบื้องจะพบรอยแตกร้าวได้ง่าย
2. ผนังเกิดการทรุดตัว แตกร้าว แยกตัวจากตัวอาคารเดิม
3. ชายหลังคาหรือรางน้ำ มักจะล้ำเข้าไปในพื้นที่ข้างเดียว ทำให้เกิดปัญหาขัดแย้งกัน จนอาจต้องรื้อหรือแก้ไขส่วนต่อเติมที่ได้ทำไปแล้ว
ทำไมถึงไม่ควรต่อเติมโดยใช้รั้วโครงการเป็นส่วนหนึ่งของส่วนต่อเติม
1. รั้วโครงการถือเป็นสาธารณูปโภคของโครงการ เป็นโครงสร้างส่วนกลาง ไม่ใช่ทรัพย์สินของเจ้าของบ้าน เนื่องจากรั้วโครงการก่อสร้างขึ้นเพื่อกำหนดขอบเขตแยกพื้นที่ส่วนตัวกับพื้นที่ส่วนกลาง
2. ฐานรากและโครงสร้างของรั้ว ออกแบบเพื่อรับน้ำหนักของตัวรั้วเอง ไม่ได้เผื่อสำหรับการต่อเติม ดังนั้น ขนาดและจำนวนเสาเข็ม, ขนาดและจำนวนเหล็กเสริมในคานและเสารั้ว จึงมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก
3. รั้วโครงการที่บริเวณขอบโดยรอบโครงการที่อยู่ติดลำราง, คลอง หรือระดับดินที่มีการถมสูง มีโอกาสที่จะล้มเอนได้ง่าย ดังนั้น ไม่ควรไปก่อสร้างต่อเติมอาคารใด ๆ ติดกับรั้วดังกล่าว เพราะหากรั้วดังกล่าวมีปัญหาเอนล้มลง ส่วนกลางของหมู่บ้านจะเป็นผู้รับผิดชอบแก้ไขให้ แต่หากเจ้าของบ้านมีการต่อเติมติดกับรั้วดังกล่าว นอกจากส่วนต่อเติมจะเสียหายตามรั้ว ปัญหาที่จะตามมาคือต้องมาพิสูจน์ว่ารั้วพังลงเนื่องจากการต่อเติมนี้หรือไม่
4. ในกรณีที่ท่านเจ้าของบ้านไม่ได้ทำการต่อเติมใดๆ เลย แต่บ้านข้างเคียงมีการต่อเติมบนรั้วโครงการแล้วเกิดความเสียหาย แตกร้าวหรือทรุด ก็จะทำให้ท่านเจ้าของบ้านได้รับผลกระทบด้วย เนื่องจากใช้รั้วร่วมกัน และถ้ามีการต่อเติมโดยใช้รั้วดังกล่าวร่วมกันอีก ก็จะยากที่จะพิสูจน์ได้ว่า ความเสียหายที่ผนังร่วมกันนั้นเกิดจากใคร
ปัญหาการต่อเติมของทาวน์เฮาส์ |
ข้อแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการต่อเติมพื้นที่ให้ชิดรั้วโครงการ
ก่อนการคิดจะต่อเติม สิ่งแรกที่ท่านเจ้าของบ้านจะต้องรู้และรับสภาพก็คือ การต่อเติมดังกล่าวผิดกฎหมาย ถึงแม้นว่าจะยอมล้นระยะจากแนวรั้ว 50 เซนติเมตรก็ตาม โดยเฉพาะทาวน์เฮ้าส์หรือตึกแถวตามกฎหมายที่ว่างด้านหลัง ห้ามก่อสร้างต่อเติมใด ๆ ทั้งสิ้น ดังนั้น ควรมีการพูดคุยกับบ้านข้างเคียง และการก่อสร้างต่อเติมพยายามให้รบกวนบ้านข้างเคียงให้น้อยที่สุด
1. ไม่ว่าจะใช้เสาเข็มสั้น หรือเสาเข็มเจาะ ต้องแยกส่วนโครงสร้างพื้นและคาน ส่วนต่อเติมกับรั้วโครงการโดยรอบ โดยการกั้นด้วยโฟมหนา 1-2 เซนติเมตร เพื่อป้องกันปัญหาส่วนต่อเติมดึง หรือรั้งให้รั้วโครงการแตกร้าวเสียหายได้
2. การต่อเติมโดยเชื่อมต่อกับรั้วโครงการ นอกจากจะทำให้รั้วเกิดความเสียหายจากการทรุดตัวแล้ว ยังอาจทำให้ส่วนต่อเติมของบ้านข้างเคียงที่ก่อสร้างต่อเชื่อมกับรั้วโครงการเช่นเดียวกับท่านเสียหายตามไปด้วย
3. การต่อเติมชิดพื้นที่ ต้องพิจารณาเรื่องน้ำฝนที่จะไหลไปรบกวนบ้านข้างเคียง ซึ่งต้องมีการใส่รางน้ำเพื่อรับน้ำฝน และรางน้ำนั้นจะต้องไม่ยื่นเกินขอบเขตที่ดินของตัวเอง
4. ไม่ควรเปิดช่องหน้าต่าง หรือช่องระบายอากาศ ในผนังด้านที่ติดกับบ้านข้างเคียง เพราะจะทำให้กระทบความเป็นส่วนตัวหรือรบกวนบ้านข้างเคียงเป็นอย่างมาก
การต่อเติมทาว์เฮาส์ไปชิดรั้ว |
"บทความโดย: สมจิตร์ เปี่ยมเปรมสุข ประธานคณะกรรมการคลินิกช่าง"
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น