หน้าเว็บ

ว่าด้วยเรื่อง สถาปนิก วิศวกร ต่างชาติ ทำงานในประเทศไทย


ท่านที่ติดตามข่าวสารเป็นประจำคงจะเคยเห็นข่าวการเปิดตัว อาคารที่สูงที่สุดในประเทศไทยแห่งใหม่ไปเมื่อเร็วๆ นี้ครับ ซึ่งอาคารแห่งนี้ใช้เวลาสร้างมาตั้งแต่ช่วงปี 2011 แล้ว และมีการเปิดตัวอย่างอลังการตั้งแต่เริ่มสร้างโครงการ จนถึงวันที่โครงการเสร็จ ก็เปิดตัวกันอีกที อย่างอลังการมากทีเดียว

เนื่องจากโครงการนี้ มีการตั้งระดับของตัวเองไว้เป็นระดับโลก ดังนั้นทุกสิ่งอย่างที่ใช้ก็ต้องเป็น "ระดับโลก" ทั้งหมด เพราะกลุ่มลูกค้าของเขา เป็นลูกค้าต่างชาติจากทั่วโลกนี่ครับ  ซึ่งก็แน่นอนรวมถึงการออกแบบ และการก่อสร้างด้วยครับ  ต้องใช้ "ระดับโลก"  ดังนั้นตั้งแต่วันที่เปิดตัวแล้ว ก็มีการเปิดตัวผู้ออกแบบ เป็นสถาปนิกต่างชาติชาวเยอรมันชื่อดัง ที่มีนามว่า Mr. Ole Scheeren ซึ่งตอนนั้นเป็นพาร์ตเนอร์ของ Office of Metropolitan Architecture (OMA)  ส่วนผลงานที่ดังๆของเขาที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ก็คือ อาคาร ซีซีทีวี แห่งกรุงปักกิ่งครับ ที่เปิดตัวไปเมื่อโอลิมปิกที่ปักกิ่งในปี 2008 ซึ่งภายหลัง Ole Scheeren ได้แยกตัวจาก OMA มาตั้งบริษัทของตัวเอง ชื่อ Buro Ole Scheeren ( http://buro-os.com/ )  ซึ่งก็แน่นอน ว่าทั้งตัวบริษัทเอง และตัวสถาปนิกเอง ไม่ใช่บริษัทไทย และไม่ใช่สถาปนิกชาวไทยครับ

CCTV headquarters ( Photo from wikimedia.org) 
เนื่องจาก Mr. Ole Scheeren เป็นสถาปนิกต่างชาติ รวมถึงบริษัทที่ไปยื่นขออนุญาต สร้างอาคารนั้นแม้จะเป็นบริษัทไทย แต่ก็ไม่ได้รับอนุญาต ให้ประกอบวิชาชีพสถาบนิก ตามพระราชบัญญัติสถาปนิก ปี 2543  จึงทำให้เกิดเป็น ประเด็นขึ้นมาครับ   และทางสภาสถาปนิก ในสมัยที่มี พลเรือเอก ฐนิธ กิตติอำพน เป้นนายกสภาสถาปนิก ก็ได้ แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี ไว้ตั้งแต่ปี 2554  

ซึ่งจากครั้งนั้น ก็มีปัญหาเรื่อง กรุงเทพมหานคร ไม่ส่งแบบที่ใช้ขออนุญาต มาให้พนักงานสอบสวน ส่งผลให้ อัยการมีความเห็นว่า หลักฐานไม่ครบจึงไม่ส่งฟ้อง ไปครับ   

ล่วงเลยจนมาถึงเปิดอาคารในปีนี้ ก็ยังมีคนเอาเรื่องสถาปนิกต่างชาตินี้ขึ้นมากล่าวถึงอีก และทางสภาสถาปนิกเอง โดยท่านนายกสภาสถาปนิกคนปัจจุบัน ก็ยืนยัน จะติดตามเรื่องนี้ต่อไป


อาคารมหานคร ภาพจาก thaisohot.com
เรื่องการใช้สถาปนิก ต่างชาติ นั้นไม่เป็นเรื่องที่ผิดปกติแต่อย่างใด ในเมื่อลูกค้าของ ผู้ประกอบการเป็นต่างชาติ  การใช้สถาปนิกต่างชาติก็ย่อมช่วยเรื่องความมั่นใจ และในเรื่องของการขาย รวมถึงความสวยงาม และความพึงพอใจ ย่อมเป็นของผู้ประกอบการอยู่แล้ว ว่าจะเลือกทำอย่างไรครับ

ทั้งนี้กฎหมายที่ควบคุมเรื่องอาชีพ ที่สงวนไว้สำหรับ คนไทย ก็มี เช่น พระราชบัญญัติแรงาน  พระราชบัญญัติสถาปนิก  พระราชบัญญัติวิศวกร เป็นต้น   ทั้งนี้เพราะอาชีพบางอาชีพนั้นกฎหมายไทยเห็นว่า เป็นอาชีพที่ต้องควบคุม และสงวนไว้ให้กับคนไทยเป็นคนทำ

แต่ทั้งนี้กฎหมายไทยก็ไม่ได้ปิดช่องในการให้สถาปนิกต่างชาติเข้ามาทำงานในไทยไว้ทั้งหมด มีช่องทางสามารถให้ทำได้  แต่ต้องร่วมทำงานกับสถาปนิกไทย  ทั้งนี้เพื่อให้ถ่ายทอดความรู้ให้กับสถาปนิกไทยด้วย

โดยปัจจุบัน ช่องทางที่สถาปนิกต่างชาติจะทำงานในประเทศไทยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ก็มีอยู่สองช่องทางใหญ่ๆคือ 

หนึ่ง เป็นสถาปนิก ใน ASEAN Economic Community (AEC) สามารถขึ้นทะเบียนบุคคล กับสภาสถาปนิก ได้เลย ถ้าเข้าเงื่อนไขที่สภาสถาปนิกกำหนด 

สอง คือการทำงานในบริษัทนิติบุคคลไทย ที่ขึ้นทะเบียนนิติบุคคลกับกระทรวงพาณิชย์ โดยการหาสถาปนิกชาวไทย มาถือหุ้น 51% และต่างชาติถือหุ้นได้ไม่เกิน 49% 

ส่วนตัวผมเอง ไม่ได้มีความเห็นต่อต้านสถาปนิก หรือวิศวกรต่างชาติแต่ประการใด ผมมีความเห็นว่า การที่มีต่างชาติเข้ามา ก็ช่วยให้สถาปนิก และวิศวกรในประเทศได้พัฒนาตัวเอง ไปด้วย ทั้งนี้หากเป็นเรื่องว่าด้วยเทคโยโลยีใหม่ๆ  เราก็ต้องเข้าไปเรียนรู้ เพื่อให้บุคคลากรของประเทศเราพัฒนายิ่งๆขึ้นไปครับ  ยกตัวอย่างเช่นงานสนามบินสุวรรณภูมิ ที่เราสร้างกันตอนเฟส ที่หนึ่งนั้น ครั้งนั้นก็ใช้วิศวกร ต่างชาติเยอะมาก เพราะเป็นงานที่ วิศวกรไทยไม่เคยมีใครทำมาก่อน เพราะงานสร้างสนามบินขนาดใหญ่เช่นนั้นก็เป็นงานที่ไม่สร้างกันบ่อยๆ   แต่พอถึงสุวรรณภูมิเฟสที่สอง วิศวกรไทยก็ทำกันเองเป็นแล้ว ก็ลดการใช้บุคคลากรต่างชาติไปได้เยอะครับ  

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น