หน้าเว็บ

ทำไมไม่ควรใช้พื้นสำเร็จในบริเวณห้องน้ำ


ปัจจุบันการใช้พื้นสำเร็จแบบแผ่นกระดานเรียบ หรือ ที่ชาวบ้านเรียกกันว่าพื้นสำเร็จมแพล้งค์ (Plank) เนื่องจากพื้นดังกล่าวมีราคาไม่แพง ติดตั้งได้ง่าย ทำให้ไม่ต้องมีการตั้งไม้แบบท้องพื้น และมีขายตามร้านค้า วัสดุทั่วไปและเป็นที่ยอมรับของเจ้าของอาคารโดยทั่วไป

แผ่นพื้นสำเร็จแบบแผ่นกระดานเรียบ เป็นพื้นคอนกรีตอัดแรงหล่อสำเร็จ ความกว้าง 30 - 35 เซนติเมตร ความยาวตามระยะของคาน ซึ่งจะต้องการสั่งผลิต แต่ไม่เกิน 4.00เมตร เมื่อติดตั้งแล้วต้องมีการเสริมเหล็กและเทคอนกรีตทับหน้า 4-6 เซนติเมตร โดยทั่วไปพื้นชนิดนี้เหมาะสำหรับอาคารประเภทพักอาศัยไม่เหมาะสำหรับอาคารที่รับน้ำหนักมากๆ เช่น โรงงาน หรือโกดังเก็บของ ยกเว้นมีการออกแบบกรณีพิเศษ

เมื่อการใช้พื้นสำเร็จมีราคาถูก และทำงานง่าย ดังนั้น ผู้รับเหมาโดยทั่วไปจึงพยายามใช้พื้นชนิดนี้ให้มากที่สุด แม้แต่พื้นบริเวณที่ไม่ควรใช้ เช่น บริเวณห้องน้ำ หรือดาดฟ้า เนื่องจากพื้นสำเร็จชนิดนี้มีรอยต่อเป็นจำนวนมาก เช่นรอยต่อระหว่างพื้นกับคาน ทำให้น้ำมีโอกาสที่จะรั่วซึมทะลุจากพื้นด้านบนได้ค่อนข้างง่าย การแก้ไขปัญหาการรั่วซึมดังกล่าวทำได้ยากมากและเสียค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง

ผู้รับเหมาที่จะใช้พื้นสำเร็จในบริเวณห้องน้ำหรือดาดฟ้า มักจะเสนอวิธีผสมน้ำยากันซึมที่ผิวหน้าเพื่อป้องกันน้ำรั่ว การก่อสร้างด้วยวิธีนี้จะใช้ได้ผลในช่วงแรก แต่จะมีปัญหาในอนาคต เนื่องจากพื้นสำเร็จเมื่อมีการใช้งาน พื้นอาจจะขยับตัวจนน้ำรั่ว ส่วนวัสดุกันซึมมีราคาค่อนข้างแพงและมีอายุการใช้งานสั้น ดังนั้นพื้นที่ดังกล่าว การเทคอนกรีตเสริมเหล็กกับที่ป้องกันน้ำรั่วได้ดีกว่า


วิธีแก้ปัญหา น้ำรั่วจากการใช้พื่นสำเร็จ ที่ดาดฟ้า และห้องน้ำ


สำหรับกรณีที่มีการใช้พื้นสำเร็จในห้องน้ำแล้วพบปัญหาน้ำรั่ว การแก้ไขปัญหาดังกล่าวมีข้อแนะนำดังนี้

1.ให้รื้อกระเบื้องพื้นออกทั้งหมด แล้วให้ทาวัสดุกันซึมที่พื้นใหม่ทั้งหมด โดยเฉพาะบริเวณรอยต่อของท่อที่วางทะลุพื้น
2. ปรับปรุงพื้นที่การใช้งานใหม่ โดยแยกส่วนแห้ง และส่วนเปียกออกจากกัน โดยในส่วนเปียกให้ใช้ถาดอาบน้ำ (ซึ่งมีขายตามร้านสุขภัณฑ์) เพื่อป้องกันน้ำไม่ให้ซึมผ่านที่พื้น การใช้งานในพื้นที่ส่วนแห้ง พยายามหลีกเลี่ยงการเทน้ำโดยตรงกับพื้น ใช้วิธีเช็ดทำความสะอาดแทน

สำหรับกรณีที่ใช้พื้นสำเร็จก่อสร้าง หรือพื้นชั้นดาดฟ้า แล้วพบปัญหาน้ำรั่ว มีข้อแนะนำดังนี้

1.อย่าเทคอนกรีต หรือปูกระเบื้องทับ เป็นการเพิ่มน้ำหนักกับพื้น ทำให้เพิ่มรอยรั่ว ปัญหาจะเพิ่มขึ้น
2. แนะนำให้ทา หรือ ปูด้วยวัสดุกันซึมที่มีความยืดหยุ่น เพื่อป้องกันปัญหาน้ำรั่ว แต่วัสดุดังกล่าวมีอายุการใช้งาน ดังนั้นจึงต้องมีการตรวจสอบเป็นระยะ
3. ตรวจสอบและแก้ไขรางระบายน้ำ, ท่อระบายน้ำให้ระบายน้ำให้เร็วที่สุด อย่าให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง

ขอขอบคุณบทความจาก: คุณสมจิตร์ เปี่ยมเปรมสุข ประธานคณะกรรมการคลีนิคช่าง

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น