หน้าเว็บ

เสียงทำให้กระจกร้าวได้จริงหรือ?


จริงๆ แล้วเสียงมีโอกาสทำให้กระจกร้าวได้ เนื่องจากเสียงมีลักษณะเป็นคลื่น ถ้าสังเกตุดีๆ เวลาที่เราอยู่ในห้องที่มีการเปิดเสียงเพลงดังๆ แล้วเราเอามือไปจับที่กระจกจะรู้สึกว่ามันสั่นๆ ฉะนั้นมีโอกาสที่เป็นไปได้ แต่!!! เป็นได้ค่อนข้างยาก เสียงนั้นจะต้องดังจริงๆ เรามาทำความรู้จักกับกระจกกันก่อนดีกว่าว่ามีกี่ประเภท และแต่ละประเภทแตกต่างกันอย่างไร



ประเภทของกระจก หลักๆ ที่บ้านเราใช้กันอยู่จะมีอยู่ 3 ประเภท

1. กระจกโฟลต เป็นกระจกที่ใช้งานทั่วไป เวลาแตกจะแตกออกเป็นเสี่ยงๆ มีความแหลมคม จึงไม่ควรที่จะติดตั้งในจุดที่เสี่ยงต่อการกระทบกระแทก มีโอกาสแตกได้ง่าย หรือจุดที่มีอุณหภูมิสูงๆ ส่วนใหญ่กระจกชนิดนี้จะนิยมเอามาทำเป็น กระจกเคลือบสีเพื่อใช้ ปูผนัง แทน กระเบื้อง หินอ่อน วอลเปเปอร์

2. กระจกเทมเปอร์ หรือ กระจกนิรภัย เป็นกระจกที่ได้จากการนำกระจกโฟลต ไปผ่านกระบวนการเทมเปอร์ เพื่อเพิ่มความแข็งแรง การแตกของกระจกเทมเปอร์ จะแตกกระจายออกเป็นเม็ดเล็กๆคล้ายเม็ดข้าวโพด และมีความคมน้อย กระจกชนิดนี้จะไม่สามารถนำมาแปรสภาพได้อีก นิยมนำมาติดในจุดที่เสี่ยงต่อการกระทบกระแทก, ใช้ทำเป็นหน้าต่าง ผนังอาคาร ผนังกระจกของอาคารในบริเวณที่เผชิญกับความร้อน สูงกว่าปกติ

3. กระจกลามิเนต เป็นการจกที่มีการใส่แผ่นลามิเนตแทรกอยู่ตรงกลาง อาจจะเป็น 2 หรือ 3 ชั้น เพื่อเพิ่มความแข็งแรง กระจกชนิดนี้เมื่อแตกเศษกระจกจะไม่หลุดออกจากกัน ยังคงยึดติดกันด้วยฟิล์มลามิเนต ลักษณะเหมือนใยแมงมุม จึงเหมาะสำหรับทำเป็นผนังกระจกผืนใหญ่ หรือใช้ทำเป็นพื้นกระจก เพื่อการตกแต่งคอนโด

กระจกทั่วๆ ไปที่เราเห็นตามบ้านหรือที่พักอาศัย ส่วนใหญ่ก็จะเป็นกระจกธรรมดา ยกเว้นพวกคอนโดหรืออาคารสูงมักจะใช้เป็นกระจกลามิเนต เนื่องจากเป็นกระจกที่แข็งแรงทนต่อแรงลม เมื่อเกิดการแตกเศษกระจกจะไม่กระเด็น เพราะแผ่นฟิล์มจะช่วยยึดเศษกระจกเอาไว้ จึงไม่ก่อให้เกิดอัตรายในการใช้งาน
ส่วนการที่กระจกจะร้าวได้นอกจากจะมีโอกาสเกิดขึ้นจากเสียงแล้วเรายังต้องดูปัจจัยอื่นๆ ที่อาจทำให้เกิดการร้าวของกระจกได้ด้วย เช่น การติดตั้ง อาจจะติดตั้งกระจกแน่นเกินไป เมื่อเจอการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิทำให้กระจกไม่มีพื้นที่ยืดหยุ่นก็เกิดการแตกได้ หรือ แรงลมก็มีส่วนด้วยเช่นกัน โดยทั่วไปตามอาคารหรือตึกสูงๆ จะต้องมีการคำนวณว่ากระจกที่ใช้ต้องมีความหนาเท่าไหร่ ถึงจะรับกับแรงลมที่จะเกิดขึ้นได้ ซึ่งจะมีวิศวกรควบคุมอยู่ เพราะฉะนั้นกรณีที่แรงลมทำให้กระจกแตกจึงเกิดขึ้นน้อยมากหรือแทบจะไม่มีเลย

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น