หน้าเว็บ

เพิ่มมูลค่าสิ่งก่อสร้างด้วยหลัก "อาคารเขียว"


 

 รู้หรือไม่ว่าเราสามารถวัดมูลค่าของสิ่งก่อสร้าง อาคารหรือที่อยู่อาศัยได้จากอะไรบ้าง? มูลค่าจากราคาการก่อสร้าง จากทำเลที่ตั้ง จากวัสดุที่ใช้ หรือจากมูลค่าราคาขาย? แล้วมูลค่าที่ไม่สามารถวัดเป็นจำนวนเงินหรือราคาที่ซ่อนอยู่ในอาคารเหล่านั้นล่ะคืออะไร?

ธุรกิจก่อสร้างหรือธุรกิจอสังหากำลังเติบโตและขยายมากขึ้นในตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทำให้เรามักจะเห็นพื้นที่ก่อสร้างอยู่ในเขตชุมชน เขตเมืองค่อนข้างเยอะขึ้น และเราคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า พื้นที่งานก่อสร้างเหล่านั้นกำลังมีผลกระทบกับสภาวะแวดล้อมและชีวิตการอยู่อาศัยของเรา ไม่ว่าจะเป็นมลพิษทางเสียง ทางอากาศ ฝุ่นละออง หรือขยะต่างๆ ทำให้ปัจจุบันนักลงทุนหรือ Developer ต้องใส่ใจกับกระบวนการหรือขั้นตอนในการก่อสร้างมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติตามมาตฐาน EIA (Environmental Impact Assessment) หรือการพัฒนาอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างของเราให้กลายเป็นอาคารเขียว


แล้วอาคารเขียวที่กำลังพูดถึงอยู่นี้มันคืออะไร?
อาคารเขียว หรือ Green building เป็นอาคารที่สร้างขึ้นโดยคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม อีกทั้งสามารถวางแผนการบริหารจัดการอาคารในอานาคตได้ดีกว่าเดิม เพราะจะลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ภายในอาคาร หรือในการบำรุงรักษา ทำให้อาคารเขียวเป็นอาคารที่มีมูลค่าจากตัวอาคารเอง ทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม และทางเศรษฐกิจ

 


ทำอย่างไรเราจะได้เป็นอาคารเขียว?
ปัจจุบันมีองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมมากมายได้กำหนดมาตรฐานและหลักเกณฑ์การประเมินอาคารสีเขียว แต่ที่ได้รับการยอมรับกันอย่างแพร่หลายและถูกนำมาใช้เป็นพื้นฐานอ้างอิงในการพัฒนามาตรฐานรุ่นใหม่คือ “มาตรฐานอาคารสีเขียวของสภาอาคารเขียวแห่งสหรัฐอเมริกา” ที่เรียกว่า LEED (Leadership in Energy & Environmental Design) ส่วนประเทศไทยเองก็มี “TREES (Thai’ s Rating of Energy and Environmental Sustainability) เกณฑ์การประเมินความยั่งยืนทางพลังงานและสิ่งแวดล้อมไทย” ซึ่งรับรองโดยสถาบันอาคารเขียวไทย

โดยขั้นตอนการประเมินอาคารเขียวจะเริ่มต้นตั้งแต่ การออกแบบและการก่อสร้าง (building design and construction) ด้านการออกแบบและการก่อสร้างภายใน (interior design and construction)  ด้านการบริหารจัดการอาคารเดิม (building operations and maintenance) ด้านการพัฒนาวางผังชุมชน (neighborhood development) ด้านอาคารบ้านและอาคารพักอาศัยรวม (homes) โดยในแต่ละด้านยังแบ่งออกเป็นประเภทย่อยๆ อีกด้วย เพื่อให้สามารถประเมินลักษณะเฉพาะของอาคารแต่ละประเภทได้อย่างละเอียด ยกตัวอย่างเช่น ด้านการออกแบบและการก่อสร้างอาคาร จะแบ่งออกเป็นการสร้างอาคารใหม่ หรือการปรับปรุงใหญ่ ด้านการพัฒนาระบบภายในอาคาร ด้านโรงเรียน  ด้านอาคารธุรกิจปลีก ด้านโกดังสินค้า ด้านสถานบริการ ด้านอาคารศูนย์ข้อมูล และด้านโรงพยาบาล

 




ส่วนการประเมินจะมีเนื้อหาเหมือนกัน คือ แบ่งออกเป็น 7 หมวดหลัก   
     1.    สถานที่ตั้งโครงการเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Site)
     2.    การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ (Water Efficiency)
     3.    พลังงานและบรรยากาศ (Energy and Atmosphere)
     4.    วัสดุและทรัพยากร (Material and Resources)
     5.    คุณภาพสภาพแวดล้อมในอาคาร (Indoor Environmental Quality)
     6.    นวัตกรรมในการออกแบบ(Innovation in Design)
     7.    ความสำคัญเร่งด่วนของภูมิภาค (Regional priority)

(หมายเหตุ: ข้อมูลจากมาตรฐานฉบับ ค.ศ. 2009)


อาคารเขียวควรได้รับแรงสนับสนุนและผลักดันต่อในทุกๆระดับ ไม่ใช่เพียงแค่นักลงทุนหรือ Developer เท่านั้น แต่สำหรับบุคคคลทั่วไปก็สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับอาคารของเราได้ โดยอาจเริ่มจากตัวเราเองหันมาใส่ใจและเลือกใช้ทรัพยากรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก็จะช่วยเพิ่มมูลค่าของอาคารและสิ่งปลูกสร้างให้เป็นอาคารที่มีมูลค่ามากกว่าเม็ดเงินที่เราลงทุนค่ะ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น