ที่ประทับรัชกาลที่ 9 ตอนที่ 1
เขียนโดย ช่างมันส์
" น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ "
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองราชย์ 70 ปี หนึ่งในพระราชกุศโลบายในการทรงงานก็คือการเสด็จแปรพระราชฐานไปค้างแรมในต่างจังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย
สำหรับพสกนิกรชาวไทย พวกเราคุ้นเคยดีกับพระตำหนัก 4-5 ชื่อที่อยู่ในต่างจังหวัด ประกอบด้วย พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ พระตำหนักเปี่ยมสุขวังไกลกังวล เป็นต้น
เหตุผลเป็นเพราะทั้ง 4-5 พระตำหนักเหล่านี้เป็นสถานที่แปรพระราชฐานนั่นเอง คำว่าแปรพระราชฐานเป็นคำกริยา หมายถึงการเปลี่ยนสถานที่ ประทับไปอยู่ที่อื่นเป็นการชั่วคราว
ทั้งนี้ หมายกำหนดการแปรพระราชฐานใน 1 ปี จะเสด็จประทับค้างแรมอย่างทั่วถึงทั่วไทยเท่าที่ทราบคือ ในเดือนสิงหาคมและตุลาคมของปี ทรงแปรพระราชฐานไปประทับที่ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าเขาตันหยง (ตันหยงแปลว่า พิกุล) ตำบลกะลุวอเหนือ ทางหลวงแผ่นดินสายนราธิวาส-ตากใบ ห่างตัวเมือง 8 กิโลเมตร โดยโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2516 พื้นที่ประมาณ 300 ไร่
ทำเลที่เลือกวางพระตำหนักแสดงให้เห็นถึงพระราชกุศโลบายชัดเจนมาก เพราะ จ.นราธิวาส เป็นจังหวัดเล็กเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านคือ จ.ปัตตานี ยะลา สงขลา ภาวะเศรษฐกิจย่อมเล็กตามไปด้วย และมีปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงเป็นทุนประเดิม การเข้ามาพักค้างแรมตรงจุดนี้เพื่อต้องการเป็นศูนย์รวมจิตใจราษฎรคนไทยทุกคน ไม่เว้นแม้แต่พื้นที่ที่มีปัญหานานาประการสุมอยู่
พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์มีประวัติที่ถือว่าแปลกพิสดารกว่าที่ประทับแห่งอื่นๆ บริเวณ 300 ไร่ของเขตพระราชฐานมีบางส่วนที่เป็นสุสานหรือที่ฝังศพชาวมุสลิม สถานที่แบบนี้ปกติไม่เหมาะสมจะนำมาก่อสร้างที่พักอาศัยแต่อย่างใด ปรากฏว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชไม่ทรงรังเกียจในข้อนี้ กับทั้งราษฎรมุสลิมก็เต็มใจให้ใช้บริเวณสุสานสร้างพระตำหนัก
โดยสรุป พระตำหนักแห่งนี้จึงนับเป็นพระราชฐานแห่งเดียวในประเทศไทย รวมทั้งอาจจะเป็นแห่งเดียวในโลกก็ว่าได้ที่มีสุสานตั้งอยู่ในอาณาบริเวณ และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ราษฎรมุสลิมเข้า-ออกเขตพระราชฐานเพื่อประกอบศาสนกิจอุทิศส่วนกุศลให้ผู้วายชนม์ได้ทุกเมื่อ
ย้อนขึ้นไปทางเหนือ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ ตั้งอยู่บนดอยบวกห้า ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ เป็นสถานที่แปรพระราชฐานระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคมของปี โปรดเกล้าให้สร้างขึ้นเมื่อปี 2504 สูงกว่าระดับน้ำทะเล 1,373 เมตร พื้นที่ 400 ไร่ ในจำนวนนี้ประมาณครึ่งหนึ่งหรือ 200 ไร่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้
และเนื่องจากใช้เวลาประทับค่อนข้างนานเนื่องจากมีสภาพภูมิอากาศเย็นสบาย ภูมิประเทศก็สวยงาม แถมเคยเป็นเมืองหลวงมาก่อน จึงก่อสร้างและออกแบบสถาปัตยกรรมแบบเรือนไทยภาคกลางที่เรียกว่าเรือนหมู่ ใช้เวลาก่อสร้าง 5 เดือนแล้วเสร็จ
จุดแปลกของพระตำหนักภูพิงค์ฯ ดูเหมือนจะเป็นพระตำหนักแห่งเดียวในประเทศไทยที่ไม่โปรดฯให้มีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่พระราชทาน เนื่องจากเป็นพื้นที่สูง การเดินทางของราษฎรไม่สะดวกในการเข้ามาใช้บริการ
ย่างเข้าฤดูร้อน แน่นอนว่าสถานที่เสด็จแปรพระราชฐานย่อมเป็นพระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล ให้สังเกตว่าวังไกลกังวล ไม่ใช่พระราชวังไกลกังวล เนื่องจากไม่มีหลักฐานปรากฏว่ามีพระบรมราชโองการยกให้เป็นพระราชวังไกลกังวลนั่นเอง
วังไกลกังวลสร้างขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2472 ด้วยทุนส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 เพื่อพระราชทานแด่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชนอกจากทรงใช้สำหรับพักผ่อนพระอิริยาบถแล้วยังเป็นสถานที่ฮันนี่มูนอีกด้วย ทางรัฐบาลเคยทูลเกล้าฯสร้างหลังใหม่ในโอกาสเสด็จฯมาทรงพักฟื้นพระวรกาย แต่ทรงเห็นว่าไม่จำเป็นเพราะต้องการประหยัดงบประมาณแผ่นดิน
พระตำหนักสุดท้ายที่จะชวนคุยวันนี้คือ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ สร้างขึ้นเมื่อปี 2518 บนเทือกเขาภูพาน ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 213 สายสกลนคร-กาฬสินธุ์ บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 14 ห่างตัวเมืองสกลนคร 16 กิโลเมตร
โดยพระองค์ท่านเป็นผู้ทรงเลือกทำเลก่อสร้างด้วยพระองค์เอง ทรงใช้แผนที่ทางอากาศและการเสด็จฯทรงสำรวจเส้นทางบริเวณป่าเขา น้ำตกมาเป็นปัจจัยในการกำหนดเขตพื้นที่ก่อสร้างพระราชฐาน เมื่อแรกก่อสร้างมีพื้นที่ 940 ไร่ ต่อมาได้ขยายขอบเขตเพิ่มเติมเพื่อทำโครงการฟื้นฟูสภาพป่าคืนชีวิตสู่ธรรมชาติอีก 1,010 ไร่ ทำให้มีพื้นที่รวมถึง 1,950 ไร่
จากลักษณะกายภาพเป็นภูเขาหินทรายปกคลุมด้วยผังดินทรายสลายบนดินลูกรัง จึงอาศัยหลักการผิวหน้าดินดังกล่าวปลูกไม้ดอกไม้ประดับ 5 รูปแบบ มีสวนรวมพันธุ์ไม้ สวนแบบประดิษฐ์ สวนแบบธรรมชาติ สวนหินประดับประดา (Rock Garden) และสวนประดับหิน (Stone Garden)
พระตำหนักพื้นที่กว้างขวางแห่งนี้ ใช้เป็นที่ประทับเพื่อทรงติดตามโครงการพระราชดำริในเขตภาคอีสาน ตลอดจนเปิดโอกาสให้ประชาชนและข้าราชการเข้าเฝ้าฯรับเสด็จตามภารกิจ
แน่นอนว่าจังหวัดสกลนครในอดีตเป็นหนึ่งในพื้นที่สีชมพู แต่ขณะเดียวกันก็เป็นดินแดนพระอริยสงฆ์หลายต่อหลายรูปเช่นเดียวกัน
ที่มา : คอลัมน์ ฟรีสไตล์เรื่องบ้าน-บ้าน มติชนรายวัน
เขียนโดย : เมตตา ทับทิม
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น