หน้าเว็บ

แนวคิด การทำงาน การดำรงชีวิต จาก รศ.ดร.สุธี อักษรกิตติ์


ท่านรศ. ดร. สุธี อักษรกิตติ์ เป็นวิศวกรอีกท่านหนึ่งที่ได้มีโอกาสถวายงานแก่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระปรมินทรมหาภูมิพลฯ ในงานด้านการสื่อสารของประเทศไทยในช่วงเวลาที่การสื่อสารยังไม่พัฒนามากเหมือนดังเช่นในปัจจุบัน

ท่านอาจารย์เป็นผู้ประดิษฐ์สายอากาศที่ใช้รับส่งสัญญาณวิทยุ ที่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเคยมีรับสั่งให้ทำ และท่านก็ทำได้สำเร็จอย่างดี เป็นที่รู้จักกันดีในชื่อของสายอากาศสุธี 1 สุธี 2 สุธี 3 และ 4 ไม่รวมถึงงานอื่นๆ อีกมากที่ไม่เป็นที่รู้จัก

วันนี้ผมไม่ได้เขียนถึงงานเหล่านั้นของท่านอีก เนื่องจากเป็นที่รู้กันดีอยู่แล้ว  ในโอกาสที่ผมได้สัมภาษณ์ท่านอาจารย์สุทธี  ท่านได้เล่าเรื่องราวที่ประทับใจเกี่ยวกับการถวายงานแด่พระองค์ท่าน แะวิธีการทำงานและการดำรงค์ชีวิต ที่อาจารย์ได้ถ่ายทอดให้ฟัง  ผมอยากจะเขียนถึงสิ่งเหล่านั้นครับ

เรามักเห็นในบทความต่างๆ เกี่ยวกับสายอากาศสุทธี 2 ว่าเป็นสายอากาศที่พระองค์ท่านทรงรับสั่งชมว่า " แจ๋วมาก"  สายอากาศสุธีสองนี้ เป็นสายอากาศที่ สามารถรับส่งสัญญาณ จากพระตำหนักจิตลดาฯ ไปจนถึง พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ ที่จังหวัดเชียงใหม่  คือสามารถส่งสัญญาณได้ไกลกว่า 600 กิโลเมตร ซึ่งเป็นเรื่องที่ใหม่มากสำหรับ ในช่วงเวลานั้น

ท่านอาจารย์สุธี เล่าให้ฟังว่า ตอนที่พระองค์ท่าน ทรงรับสั่งว่า "แจ๋วมาก" นั้น ท่านได้ทรงกล่าวในสถานที่ที่มีคนอยู่เยอะแยะ ท่านทรงรับสั่งชมอาจารย์สุธี ต่อหน้าข้าราชบริพาร อีกมากมาย ซึ่งในความจริงท่านไม่มีความจำเป็นต้องทำเช่นนั้น  อาจารย์สุธี บอกว่าท่านทรงมีเมตตามาก นับเป็น ความเมตตาของผู้ใหญ่ที่จะให้กับข้าราชการชั้นผู้น้อย อย่างท่าน  และจากวันนั้น ทำให้อาจารย์สุธี ได้แนวคิดในการใช้ชีวิตมาว่าดังนี้คือ

" คนที่มีความสามารถมากๆ ก็ต้องมีเมตตาธรรมมากๆ ด้วย ไม่ใช่เอาไปใช้แต่หาประโยชน์ส่วนตัว"




นอกจากนั้น อาจารย์สุธียังสอนถึงหลักการทำงานต่างๆที่ได้เรียนรู้มาจากพระองค์ท่านว่าดังนี้คือ

คาถาในการทำงานสี่ข้อ
1. ขอให้มีความร่วมมือกัน ดูด้วยว่าใครทำอะไรอยู่ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ
2. เมื่อทำงานแล้ว ก็ให้ได้ทำอย่างตั้งใจทำงานจริงจัง
3. ทำงานแล้วต้องมีการติดตามงาน
4. เมื่อทำแล้ว ก็ต้องนำไปใช้งานให้ได้

"คิดแล้วต้องทำ ทำแล้วก็ต้องทำด้วยความถูกต้อง รวดเร็ว เพราะถ้าทำไม่ถูกต้อง ทำแบบลองผิดลองถูก ก็จะเสียเงินทองและเสียเวลา"

และ

"โจทย์ หรือการตั้งคำถามนั้น เป็นสิ่งที่สำคัญมาก สำคัญยิ่งกว่าการหาคำตอบเสียอีก  คำตอบที่ถูกต้อง ให้กับโจทย์ที่ผิด  มีค่าน้อยกว่า  คำตอบที่ผิด  แต่ตอบให้กับโจทย์ที่ถูกต้องเสียอีก"

ได้มีโอกาสพูดคุยกับอาจารย์เพียงเท่านี้เอง  ผมเชื่อว่าหากมีเวลามากกว่านั้น คงจะยังมีคำสอน ความรู้ หลักในการดำเนินชีวิตอีกมากทีเดียวครับ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น