หน้าเว็บ

มารู้จัก กับถนนไทยให้มากขึ้น


เมื่อไม่นานมานี้ ผมขับรถตอนเช้าที่ถนนใกล้ๆ กับที่ผมพักอยู่ครับตอนนั้นเป็นเวลาประมาณตีห้า ความมืดก็ยังปกคลุมกรุงเทพมหานครในยามเช้า  เวลานั้นรถยนต์ไม่ค่อยมีมาก เนื่องจากเป็นตอนเช้าวันอาทิตย์ และผมก็ขับรถไปอย่างช้าๆ ที่เลนตรงกลาง ของถนน ซึ่งถนนนั้นมีสามเลน สามเลนกว้างๆ และเป็นถนนคอนกรีตเลยครับ   ขณะที่ผมกำลังขับๆ อยู่นั้น สักพัก ผมก็สังเกตุเห็นว่าที่พื้นถนนข้างหน้า ในระยะทางที่ใกล้มาก มีหลุมอยู่ครับ ใช่ครับ "ผิวถนนคอนกรีต เลนกลาง มีหลุมอยู่ครับ"  

ปรากฎว่าหลบไม่ทันสิครับ และผมก็ตกหลุมไปเต็มๆ ครับ ผลก็คือ ยางรถยนต์บวม ทั้งล้อหน้าและล้อหลัง ในข้างที่ตกหลุมไปครับ และ ล้อคดนิดหน่อยด้วย  เลยต้องเสียเงินค่าเปลี่ยนยางและซ่อมล้อแม็ก ครับ  นี่ยังดีที่ไม่มีใครเป็นอะไรครับ  ผมคิดว่า เรื่องราวแบบนี้ ไม่ได้เกิดกับผมคนเดียว คงเกิดกับ ผู้ใช้รถใช้ถนนทั่วไปในประเทศไทยเลยละ

ทำไมถนนในประเทศไทยถึงต้องเป็นหลุมเป็นบ่อ ทำไมสร้างมาไม่นานถนนก็พัง คำถามนี้คงอยู่ในใจของผู้ใช้ถนนไทย นานมาหลายสิบปี แต่ไม่เคยได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้นครับ

เมื่อเราพูดถึงถนนแล้ว ถนนเป็นโครงสร้างทางวิศวกรรมอย่างหนี่งครับ โดยทั่วไปโครงสร้างทางวิศวกรรมนั้น เราออกแบบให้มันรับน้ำหนักได้ โดยที่โครงสร้างไม่พังลงมา หรือพังอย่างปลอดภัย  แต่ถ้าเป็นกรณีขอ องค์ประกอบของถนนมีอยู่สองส่วนหลัก คือ ส่วนที่เป็น ส่วนโครงสร้างถนน กับส่วนของผิวถนน

ส่วนของโครงสร้างถนน โดยทั่วไปก็หมายถึง ดินคุณภาพดี ที่มาช่วยรับน้ำหนักที่ถ่ายจากผิวถนน ลงไปยังพื้นดินเดิม โดยที่พื้นดินเดิมไม่พัง

ส่วนของผิวถนน ก็คือส่วนที่ล้อรถยนต์ของเราสัมผัสกับถนนนั่นเองครับ  เป็นส่วนที่เราเห็นกันเป็นประจำ  ผิวถนนมีหน้าที่ช่วยถ่ายน้ำหนักจากล้อรถยนต์ ลงไปบนชั้นดินที่อยู่ใต้มันลงไป  และนอกจากนั้นยังมีหน้าที่ให้ความปลอดภัยกับผู้ใช้ทาง เพราะผิวถนน ต้องมีความฝืด ไม่ลื่นอีกด้วยครับ  เพราะเมื่อรถมีความเร็ว รถต้องสามารถวิ่งทรงตัวอยู่บนถนนได้อย่างปลอดภัย

ส่วนของผิวถนนในประเทศเรานั้นที่เห็นกันก็มีอยู่ สามแบบใหญ่ๆ ก็คือ
หนึ่ง ผิวถนนที่ไม่ได้ มีการทำผิวถนน เลย  บ้านเราเรียก ถนนประเภทนี้ว่า ถนนลูกรัง
สอง  ผิวถนนที่ทำการปูผิวถนนด้วยยางมะตอย หรือ Asphalt ครับ
สาม ผิวถนนที่ทำการปูผิวถนนด้วย คอนกรีต

ทั้งสามประเภทนี้ ผิวถนนประเภท คอนกรีตนั้น เป็นผิวถนนที่มีความคงถนนแข็งแรงมากที่สุด  และทราบไหมครับว่า ในการทำถนนเส้นหนึ่งนั้น ถ้าราคาของการสร้างถนน เป็นสิบบาท ราคาของผิวทางนั้น เป็นประมาณ เก้าบาท ทีเดียวครับ และในการออกแบบถนนครั้งหนึ่ง วิศวกรออกแบบจะออกแบบให้ถนนมีอายุการใช้นาน ได้ยาวนานหลายสิบปี จนกว่าจะต้องมาทำกันใหม่ครับ  เช่น ถ้าเป็นถนนที่มีการปูผิวด้วยยางมะตอยนั้น ก็จะออกแบบให้ใช้งานได้ประมาณ 25-30 ปี ส่วน ถนนที่เป็นผิวคอนกรีต ก็ใช้งานได้ยาว 30-40 ปีทีเดียวครับ

มาพูดถึงว่า ที่เราว่าถนนพังนั้น แบบไหน ทางวิศวกรรมเรียกว่า "พัง"  การพังของถนนนั้น ทางวิศวกรรมแล้ว มีการพังอยู่สองแบบครับ ก็คือ

 



หนึ่ง  Functional Failure คือ ไม่สามารถใช้งานตามวัตถุประสงค์ที่ออกแบบมาได้แล้ว ได้แก่ การที่ถนน เรียบเกินไป หรือถนน ขรุขระเกินไป  เพราะวัตถุประสงค์ของถนน คือ ใช้ให้รถวิ่งได้อย่างปลอดภัย ด้วยความเร็วที่ออกแบบเอาไว้ใช้ไหมครับ

สอง  Structural Failure คือ ถนนพังจริงๆ  อันนี้เป็นไปตามที่ประชาชนอย่างเราๆเข้าใจกันเลยครับ  คือการที่ถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ ถนนทรุด ถนนร้าว นั่นเองครับ คือโครงสร้างของถนนเสียหายเลย

ทีนี้มาถึงคำถามคาใจ ที่เป็นคำถามยอดฮิต เมื่อพูดถึงถนนครับ ว่าทำไมถนนถึงพังบ่อยจังเลย แล้วมันปกติไหมที่พังแบบนี้

ถ้าถนนที่ออกแบบ ไว้ว่าอายุการใช้าน 25-30 ปีนั้น ต้องมาพัง ภายใน หนึ่งปีหรือสองปีนั้น มันปกติหรือเปล่า คำตอบคือ มันน่าจะไม่ปกตินะครับ  ถ้ามันไม่ปกติแล้ว มันเป็นเพราะอะไรได้บ้าง แล้วเราจะแก้ไขแนะนำอย่างไรให้ดีขึ้นได้บ้าง

สาเหตุที่ถนนบ้านเรา เสียหายบ่อย อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังเช่น สาเหตุต่อไปนี้ครับ

หนึ่ง คือ ถนนรับน้ำหนักมากกว่าที่ออกแบบ เอาไว้
สอง คือ วิธีการออกแบบผิวถนน ที่ประเทศไทยใช้นั้น อาจไม่เหมาะสมกับประเทศของเราจริงๆ  เพราะมาตรฐานการออกแบบ ผิวถนนของประเทศไทยนั้น ใช้เหมือนกัน ทั่วประเทศ โดยไม่คำนึงถึงสภาพอากาศ ในแต่ละภูมิภาค  และ มาตรฐานนั้น ก็เอามาจากต่างประเทศ ที่อาจไม่เหมาะสมสภาพภูมิอากาศในประเทศเรา  และในส่วนของการตัดเกรดยางที่ใช้นั้น เราก็ใช้ยางเกรด AC60/70 ที่เป็นการวัดมาตรฐานจากความแข็งอ่อนของยางเป็นหลัก  มีหลายปัจจัยมากในเรื่องการออกแบบ ที่อาจทำให้ ผิวถนนพังเร็วกว่าที่ควรจะเป็นครับ

สาเหตุของถนนชำรุดในประเทศไทย

แต่ประเทศของเราก็มีคนเก่งๆ อยู่มากครับ  เราสามารถวิจัยนำสารผสมที่มาจากยางพาราธรรมชาติในประเทศมาผสมกับ ยางมะตอยที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ มาทำให้ยางมะตอยที่ใช้ปูผิวทางนั้นมีคุณภาพดีขึ้น และทนต่อสภาพอุณหภูมิ และความชื้นในประเทศเราได้มากขึ้น   ไว้มีโอกาสในครั้งหน้า เราจะกลับมาเขียนเรื่องนี้กันต่อครับ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น