หน้าเว็บ

ที่ประทับรัชกาลที่ 9 ตอนที่ 2


 


“บ้านของพ่อ” กว้างขวางถึง 395 ไร่ แต่ไม่เหมือนสถานที่ประทับของพระมหากษัตริย์ประเทศใดในโลก

ใช่แล้วค่ะ วันนี้จะชวนคุยถึงพระตำหนักสวนจิตรลดารโหฐาน สถานที่ประทับถาวรของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อครั้งเสด็จนิวัติพระนครถาวรเมื่อปลายปี 2494

ก่อนหน้านี้ มีความตั้งใจแรงกล้าที่จะต้องไปต่อคิวเพื่อถวายสักการะพระบรมศพในพระบรมมหาราชวัง วางแผนเริ่มต้นเข้าคิวตั้งแต่ตี 3 เนื่องจากเข้าใจว่าถ้าไปตอนดึกดื่นเช้ามืดจะสามารถใช้เวลาประมาณ 4-6 ชั่วโมง ปรากฏว่า ใช้เวลาจริงๆ มากกว่า 9 ชั่วโมง เนื่องจากพสกนิกรใจตรงกันมีจำนวนมาก คิวก็เลยยาวกว่าปกติทั้งๆ ที่เป็นวันธรรมดา

ยิ่งได้มาอ่านมาค้นคว้าเกี่ยวกับราชสกุลมหิดล ยิ่งซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้

ทั้งนี้ทั้งนั้น พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ ทรงมีพระราชสมภพเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2470 ณ โรงพยาบาลเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา (ตอนหลังโรงพยาบาลเปลี่ยนชื่อเป็นเมาท์ออเบิร์น)


ในขณะที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประสูติเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2466 ณ สถานพยาบาลเลขที่ 48 Lexham Garden กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2468 ณ โรงพยาบาลไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี

จะเห็นว่าทั้ง 3 พระองค์เกิดใน 3 เมือง 3 ประเทศ เนื่องจากสมเด็จพระราชชนกและพระราชชนนีทรงเดินทางเพื่อศึกษาเล่าเรียน รักษาอาการเจ็บป่วย และดูงานในประเทศยุโรป แต่ปรากฏว่าแม้จะมีฐานันดรสูงส่งแต่ช่วงชีวิตในระหว่างเป็นนักศึกษาในต่างประเทศ ทรงปฏิบัติตนอย่างใกล้เคียงสามัญชนให้มากที่สุด แม้แต่ชื่อก็ใช้ชื่อว่า “มิสเตอร์มหิดล สงขลา”

ความเรียบง่าย ยังสะท้อนผ่านสถานที่ประทับอีกด้วย โดยสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เมื่อครั้งทรงศึกษาต่อในสหรัฐอเมริกา ทรงประทับที่แฟลต เลขที่ 329 ถนนลองวู้ด ใกล้โรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ตอนที่อยู่เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ก็ทรงประทับที่โรงแรมเล็กๆ ชื่อมอนตานา

และเมื่อเสด็จกลับมาศึกษาต่อที่สหรัฐอีกรอบ สถานที่ประทับคือแฟลต เลขที่ 63 ถนนลองวู้ด บรู๊กไลน์ เรียกกันว่าพระตำหนักบรู๊กไลน์ ต่อมา สมเด็จพระชนกทรงเข้ารับการผ่าตัดไส้ติ่ง หลังจากนั้นเมื่อทรงตัดสินพระทัยพาครอบครัวกลับเมืองไทยเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2471

การเสด็จกลับในปีนั้น จึงได้สร้างพระตำหนักหลังใหม่ขึ้นในบริเวณวังสระปทุม บ้านหลังใหม่นี้สร้างให้เป็น “บ้านคนเราจริงๆ” ไม่ใช่ “วังเจ้านาย”

แม้เมื่อพระราชชนกสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2472 พระราชชนนีในวัย 29 พรรษาก็ทรงอภิบาลเจ้านายองค์น้อย ยุวกษัตริย์ โดยต้องการให้ใช้ชีวิตอย่างสามัญชนให้มากที่สุด ซึ่งพระราชประวัติทั้งหมดนี้คนไทยทุกคนล้วนทราบเป็นอย่างดี

ดังได้กล่าวแล้วว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงนิวัติพระนครถาวรเมื่อปี 2494 และทรงเลือกพระตำหนักจิตรลดารโหฐานเป็นที่ประทับถาวร มองในความกว้างขวางของพื้นที่เกือบ 400 ไร่ ทำเลตั้งอยู่ใจกลางมหานครกรุงเทพ จะทรงเนรมิตให้เป็นพระราชฐานหรูหราใหญ่โตแค่ไหนก็ได้

แต่หนทางที่ทรงเลือกกลับกลายเป็นพระราชฐานที่อุทิศพื้นที่ให้กับแปลงนาทดลอง โรงงานต้นแบบต่างๆ นานาในฐานะเป็นโครงการส่วนพระองค์ โดยนำวังที่ประทับมาเป็นสถานที่ทรงงานตั้งแต่ปี 2504 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

ในด้านสถาปัตยกรรม ตัวอาคาร 2 ชั้นดีไซน์แบบตะวันตก รั้วกรุกำแพงเหล็ก ขุดคูรอบ 4 ด้าน แต่ปรากฏว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ของพระตำหนักจิตรลดารโหฐานกลับเต็มไปด้วยแปลงนาข้าวทดลอง, ห้องค้นคว้าเชื้อเพลิงเขียวหรือเอทานอล ที่ได้ผลผลิตออกมาเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอลล์กับไบโอดีเซล

นอกจากนี้ ภายในเขตพระราชฐานยังมีบ่อเลี้ยงและเพาะพันธุ์ปลานิล ซึ่งเป็นเมนูอาหารชนิดเดียวในโลกนี้ที่ไม่ทรงเสวย เนื่องจากทรงเลี้ยงปลานิลนั่นเอง เหตุผลมาจากคนไทยส่วนใหญ่อยู่ในชนบท ขาดแคลนอาหารโปรตีนเพราะมีราคาสูง ทรงคิดค้นจนมี 3 สายพันธุ์ คือ ปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา 1-2-3 และเพาะพันธุ์แจกจ่ายให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงเป็นอาหาร

ยังมีโรงโคนมซึ่งเป็นเหตุการณ์หลังจากเสด็จเยือนประเทศเดนมาร์กและขอสายพันธุ์มาเลี้ยงให้เป็นอาชีพใหม่แก่เกษตรกรไทย, โรงงานนมผงสวนดุสิต, โรงงานผลิตน้ำผลไม้, โรงผลิตน้ำผึ้ง, โรงเพาะเห็ดหลินจือ, โรงสีข้าวตัวอย่าง, โรงบดและอัดแกลบ, โรงปุ๋ยอินทรี ฯลฯ

ภายในวังสวนจิตรฯยังโปรดให้สร้างโรงเรียนจิตรลดาขึ้นในปี 2501 สำหรับเป็นสถานให้การศึกษาชั้นต้นแก่พระราชโอรสพระราชธิดา ตลอดจนบุตรหลานเหล่าราชบริพารอีกด้วย

พระตำหนักสวนจิตรลดาจึงเป็นบ้านของพ่อที่ไม่เหมือนใครในโลก ด้วยประการนี้แล

ที่มา : คอลัมน์ ฟรีสไตล์เรื่องบ้าน-บ้าน มติชนรายวัน
เขียนโดย : เมตตา ทับทิม

1 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

Here in this blog, words themselves are making that situation where there is a great deal of pandemonium and good fortune alongside a quiet separation. Seldom found to see such ability and excitement. ประโยชน์ เห็ด หลิน จื อ

แสดงความคิดเห็น