
ในที่นี้จะเล่าถึงลักษณะปัญหาการทรุดตัวและปัญหาดินรอบบ้านยุบตัว รวมถึงสาเหตุที่เป็นไปได้ของปัญหาเหล่านั้นเพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจและทราบว่าโอกาสเกิดเหล่านั้นจะมีมากน้อยเพียงใด เวลาจะเลือกซื้อบ้านหรือเมื่อเกิดปัญหาเช่นว่านี้จะแก้ไขอย่างไรให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ
บ้านอาศัยมาหลายสิบปี จะเกิดการทรุดตัวได้หรือไม่?
ปกติแล้วบ้านจะทรุดตัวจมลงดินได้จะต้องมีปัญหามาจากฐานราก ซึ่งคำว่าฐานรากนั้นหมายรวมถึง เสาเข็ม แป้นครอบหัวเสาเข็ม และเสาตอม่อ บ้านควรวางอยู่บนเสาเข็มที่มีขนาดและความยาวเพียงพอ ซึ่งความยาวเพียงพอที่ว่านี้คือปลายเสาเข็มต้องวางอยู่ในชั้นดินเหนียวที่มีความแข็ง หรือชั้นทรายแน่นตามที่วิศวกรออกแบบกำหนด โดยเสาเข็มต้องไม่หักหรือสั้นกว่าที่กำหนด เสาเข็มต้องไม่เยื้องตำแหน่งกับเสาตอม่อ (เสาตอม่อ คือเสาสั้นที่อยู่เหนือแป้นครอบหัวเสาเข็ม) ทั้งเสาเข็ม แป้นครอบหัวเสาเข็มและเสาตอม่อนั้น เราจะไม่สามารถมองเห็นได้เพราะทั้งสามส่วนนี้อยู่ได้พื้นชั้นล่างของบ้าน
หากเสาเข็ม แป้นหัวเสาเข็ม หรือเสาตอม่อส่วนใดส่วนหนึ่งเกิดการชำรุดแตกหัก บ้านจะทรุดตัวเพราะส่วนของฐานรากไม่สามารถส่งถายน้ำหนักของบ้านลงไปยังดินด้านล่างได้ บ้านหรืออาคารจะเกิดการทรุดตัวทันทีไม่ต้องรอให้มีผู้เข้าพักอาศัยแต่อย่างใด ดังนั้นเมื่อจะซื้อบ้านควรหมั่นเข้าไปตรวจเช็คระหว่างก่อสร้างก่อนรับมอบบ้านบ่อยๆ หากมีร่องรอยการซ่อมแซมรอยร้าว ต้องทำการตรวจสอบให้มั่นใจว่ารอยร้าวนั้นไม่ได้เกิดจากฐานรากชำรุดบกพร่อง เพราะรอยร้าวจะปรากฎให้เห็นในช่วงแรกๆ โดยไม่ต้องรอทิ้งช่วงเวลา ถ้าฐานรากของบ้านมีปัญหา
ดังนั้น บ้านที่อยู่มานานหลายสิบปีแล้วจึงค่อยเกิดการทรุดตัวนั้นจะต้องไม่ใช่เกิดขึ้นจากฐานรากของบ้านมีปัญหา แต่มักพบว่าเกิดขึ้นจากการต่อเติมอาคาร ไม่ว่าจะเป็นการต่อเติมด้านหลัง ด้านข้าง หรือเพิ่มจำนวนชั้นของบ้าน เหล่านี้ล้วนทำให้เกิดปัญหาทั้งสิ้น ด้วยเหตุที่การต่อเติมบ้านมักจะไม่สามารถใช้เสาเข็มยาวเท่ากับเสาเข็มของบ้านหลักได้ เพราะพื้นที่ส่วนต่อเติมมีจำกัด
ส่วนต่อเติมที่วางบนเสาเข็มสั้นจะทรุดตัวเกิดรอยแยกบริเวณตำแหน่งที่เป็นรอยต่อกับตัวบ้านหลัก และถ้าหากมีการเชื่อมส่วนต่อเติมเข้ากับตัวบ้านหลักด้วยแล้ว การทรุดตัวของส่วนต่อเติมจะดึงบ้านหลักให้ทรุดตัวตามไปด้วย หากการทรุดตัวเกิดขึ้นต่อเนื่องไม่ได้ทำการแก้ไข เสาเข็มจะบิดหักไม่สามารถแบกรับน้ำหนักของตัวบ้านได้ต่อไป เป็นผลทำให้บ้านทรุดตัวลงอย่างรวดเร็วมีรอยแตกร้าวปรากฎขึ้นมากเป็นลักษณะที่เรียกว่า "อาคารวิบัติ"
ปัญหาบ้านทรุดและดินรอบบ้านยุบตัว ตอนที่ 2
ปัญหาบ้านทรุดและดินรอบบ้านยุบตัว ตอนที่ 2
บทความโดย ดร.ธเนศ วีระศิริ
ประธานคณะอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนด้านวิศวกรรม
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น