ในตอนที่แล้วกล่าวถึงปัญหาการทรุดตัวของบ้านพักอาศัยที่อยู่มาหลายสิบปี จะเกิดการทรุดตัวได้หรือไม่ สรุปก็คือ ถ้าบ้านมีปัญหาเรื่องฐานรากจะเกิดปัญหาขึ้นทันที ส่วนบ้านที่อยู่มานานหลายสิบปีแล้วจึงค่อยเกิดการทรุดตัวนั้นจะต้องไม่ใช่เกิดขึ้นจากฐานรากของบ้านมีปัญหา แต่มักพบว่าเกิดขึ้นจากการต่อเติมอาคาร ไม่ว่าจะเป็นการต่อเติมด้านหลัง ด้านข้าง หรือเพิ่มจำนวนชั้นของบ้าน ตอนนี้มาต่อเรื่องของปัญหาบ้านทรุดและดินรอบบ้านยุบตัวกันอีกตอนครับ
ปัญหาดินรอบบ้านยุบตัว
ดินช่วงบนบริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เช่น จ.สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร ส่วนใหญ่เป็นดินเหนียวอ่อน โดยทั่วไปจะมีการยุบตัวอย่างต่อเนื่อง การก่อสร้างอาคารบ้านเรือนในเขตพื้นที่ดังกล่าวจึงต้องใช้เสาเข็มที่มีความยาวหยั่งลึกลงในชั้นดินเหนียวแข็งหรือทรายแน่นที่สามารถแบกรับน้ำหนักบรรทุกจากตัวบ้านเรือนได้เพียงพอ รวมถึงการยุบตัวของดินเหนียวช่วงบนต้องไม่ส่งผลกระทบกับตัวเสาเข็มของบ้าน
กรณีที่การก่อสร้างบางแห่งทำการถมดิน เพื่อให้พื้นดินมีความสูงขึ้นจากเดิมเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาน้ำท่วม หรือต้องการปรับระดับให้ดินมีความสูงเท่าๆ กัน ดินที่นำมาถมก็มีโอกาสยุบตัวลงด้วยเช่นกัน และมีโอกาสที่จะยุบตัวมากกว่าดินเดิมด้วย
![]() |
ภาพดินรอบบ้านยุบตัว ภาพจาก: www.pantip.com |
คำตอบก็คือ แม้จะถมดินรอบตัวบ้านให้มีระดับสูงเท่าในอดีต อนาคตเพียงไม่กี่ปีดินก็จะยุบตัวได้อีกเช่นกัน และหากบดอัดดินไม่ดีจะยุบตัวเร็วด้วย การยุบตัวของดินเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก แต่สามารถควบคุมให้มีการยุบตัวในอัตราที่ช้าลงได้ด้วยการเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสมและทำการบดอัดให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ
สำหรับบริเวณพื้นที่ใต้บ้านไม่ควรถมดินเพิ่มเข้าไป เพราะจะเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้ฐานรากของบ้านและทำให้ฐานรากทรุดตัว เมื่อไม่ถมดินใต้บ้านควรทำแผงป้องกันดินไหลจากนอกบ้านเข้าไปใต้บ้าน แผงป้องกันดินไหลควรอยู่บริเวณขอบคานคอดิน ซึ่งวิธีนี้แก้ปัญหาในหลายพื้นที่แล้วได้ผลดี
ปัญหาลานจอดรถทรุดตัว |
ปัญหาฐานรากทรุดตัวไม่เท่ากัน
กรณีฐานรากทรุดตัวไม่เท่ากันอาจมีสาเหตุมาจากเสาเข็มวางอยู่บนดินต่างชนิดกัน เสาเข็มบกพร่องแตกหัก หรือเสาเข็มเยื้องตำแหน่งกับเสาบ้าน ด้วยสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งนี้ฐานรากในบ้านจะทรุดตัวแตกต่างกันแล้วทำให้เกิดการแตกร้าว การทรุดตัวที่เกิดขึ้นนี้ต้องแก้ไขด้วยการเสริมเสาเข็มในฐานรากที่พบความบกพร่อง การแก้ไขควรมีวิศวกรกำกับดูแลและทำการวิเคราะห์แนวทางการแก้ไขทั้งหมด
ในตอนหน้าจะเป็นบทสรุปปัญหาที่เกี่ยวข้องกับปัญหาบ้านทรุดและดินรอบบ้านยุบตัว ติดตามกันได้ในตอนหน้าค่ะ
บทความโดย: ดร.ธเนศ วีระศิริ
ประธานคณะอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนด้านวิศวกรรม
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
1 ความคิดเห็น:
ฝากผลงานด้วยครับ ช่างใหญ่ 0816662131
https://www.blogger.com/blogger.g?blogID=771003216681197580#editor/target=post;postID=8261786104773502517
แสดงความคิดเห็น