หน้าเว็บ

ปัญหาบ้านทรุดและดินรอบบ้านยุบตัว (ตอนจบ)


     ในตอนที่ 1 และตอนที่ 2 ได้กล่าวถึงปัญหาบ้านทรุด และปัญหาดินรอบบ้านที่ยุบตัวลง ซึ่งเป็นเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ในช่วงนี้ บางแห่งเป็นทาวน์เฮ้าส์ทรุดตัวลงทั้งแถบประมาณ 7-8 ห้อง ทั้งที่อยู่มาประมาณ 30 ปีแล้ว บางแห่งเข้าอยู่ไม่นานก็เกิดรอยแตกร้าวแล้ว และพบว่ามีเสาบ้านบางต้นหักพับลงมา

     ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ประชาชนโดยทั่วไปเริ่มไม่มั่นใจว่าอาคารที่พักอาศัยจะมีปัญหาได้หรือไม่ ซึ่งได้อธิบายถึงลักษณะปัญหา รวมถึงสาเหตุที่เป็นไปได้ของปัญหาเหล่านั้น เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจและทราบว่าโอกาสเกิดเหล่านั้นจะมีมากน้อยเพียงใด เวลาจะเลือกซื้อบ้านหรือเมื่อเกิดปัญหาจะแก้ไขให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ


     ในสัปดาห์นี้จะเป็นบทสรุปของปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาบ้านทรุดและดินรอบบ้านยุบตัวเสนอเป็นตอนจบ

กล่าวโดยสรุป

- การต่อเติมบ้านโดยใช้เสาเข็มสั้นเป็นเหตุให้บ้านเกิดการแตกร้าวได้ และขั้นรุนแรงอาจดึงตัวอาคารหลักให้ทรุดตัวจนถึงขั้นแตกร้าววิบัติได้
- ถ้าเกิดเหตุดินรอบบ้านยุบตัว ขั้นแรกควรตรวจดูบ้านว่าแตกร้าวหรือทรุดเอียงหรือไม่ หากไม่แตกร้าวหรือทรุดเอียง สบายใจได้ในลำดับแรกว่าเสาเข็มของบ้านวางอยู่บนเสาเข็มที่มีความยาวเพียงพอ หากแตกร้าวแสดงว่าเสาเข็มแบกทานน้ำหนักบ้านไม่ไหวด้วย ลำดับถัดไปเสนอแนะให้แก้ไขดังนี้

   1. ทำแผงกันดินลึกประมาณ 50-80 เซนติเมตรรอบบ้านตลอดแนวคานคอดิน แผงที่ใช้อาจเป็นคอนกรีตยึดติดกับคานคอดิน แต่ต้องติดแผ่น metal sheet ผิวเรียบที่แผงป้องกันดินไหลด้วย เพื่อไม่ให้ดินรอบบ้านดึงแผงคอนกรีตลงขณะที่เกิดการยุบตัวเพิ่ม

   2. ถมดินตามระดับที่ต้องการด้วยวัสดุคัดเลือกที่เหมาะสมในการบดอัด และทำการบดอัดให้แน่นทุก 30 เซนติเมตร ระดับของดินถมไม่ควรให้สูงเกินกว่าระดับดินที่เคยถมไว้เดิม

   3. พื้นของลานจอดรถควรเป็นพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กวางบนเสาเข็มสั้นที่ตอกลงดินแบบปูพรม ระยะห่างระหว่างเสาเข็ม 1.00 - 1.50 เมตร  เสาเข็มมีความลึก 4 - 6 เมตร  ทั้งนี้เพื่อให้ลานจอดรถทรุดตัวตามดินที่ยุบตัวอย่างเป็นระเบียบ

     สำหรับบ้านที่แตกร้าวเพราะฐานรากทรุดตัวต่างระดับกันนั้น ควรทำการแก้ไขด้วยการเสริมเสาเข็ม แต่ก่อนเสริมเสาเข็มควรสำรวจการทรุดตัวของบ้านทั้งหลัง วิเคราะห์สาเหตุการทรุดตัวให้แน่นอน ซึ่งควรอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของวิศวกร

บทความโดย: ดร.ธเนศ วีระศิริ 
ประธานคณะอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนด้านวิศวกรรม
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น