หน้าเว็บ

บันไดเลื่อนใช้อย่างไรให้ปลอดภัย


ถ้าพูดถึงการขนถ่ายคนในอาคาร เพื่อความสะดวกสะบายของคนในอาคารแล้วละก็ การขนส่งคนโดยลิฟท์โดยสาร คงเป็นสิ่งที่คิดถึงเป็นอย่างแรกๆ เพราะการเดินทางในแนวดิ่งนั้น ต้องใช้พลังงานมาก หากยิ่งเป็นอาคารสูงหลายๆชั้นด้วยแล้ว เรียกว่าแทบจะขาดไม่ได้กันเลยทีเดียว  วันไหนที่ลิฟท์เสียคงไม่อยากไปทำงานกันเลยก็เป็นได้  แต่การใช้ลิฟท์แม้ว่าจะมีความสะดวกสบาย แต่ก็ใช้พลังงานมาก โดยเฉพาะการใช้ขึ้นลงแค่ชั้นใกล้ๆ กัน   เช่นขึ้นแค่ชั้นเดียว  และนอกจากนั้นการใช้ลิฟท์โดยสารนั้น ไม่สามารถใช้ได้ทันทีที่ต้องการ  ต้องกดลิฟท์และรอให้ลิฟท์เคลื่อนที่มาถึงชั้นของเราก่อนจึงจะใช้งานได้  และในหลายสถานที่  ก็ไม่สามารถติดตั้อง ลิฟท์ได้เหมือนกัน

ถ้าเป็นการขนถ่ายคนในแนวราบ หรือการขึ้นลงในระยะสั้นๆ เช่นชั้นเดียวนั้น  อปุกรณ์ที่เราจะนึกถึงเป็นอย่างแรก ก็คงเป็นบันไดเลื่อน  ส่วนถ้าเป็นการขนส่งคนทางแนวราบ แบบระยะทางไกลๆ  เพื่อให้เกิดความรวดเร็วและสะดวกสบายนั้น  เราก็คงนึกถึงทางเลื่อน  ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว  การทำงานของบันไดเลื่อน และทางเลื่อนนั้น มีการทำงานที่เหมือนๆ กัน  และมีองค์ประกอบเหมือนๆกัน

กล่าวคือ

หนึ่ง  ส่วนของ Landing Platform  หรือจะเรียกว่า Machine room หรือห้องเครื่อง ซึ่งจะอยู่ด้านปลายทั้งสองด้านของบันไดเลื่อน ในส่วนนี้จะประกอบด้วยเฟือง ที่ขับสายพานให้หมุนไป  และก็จะมีมอเตอร์ที่ทำให้เฟืองเคลื่อนที่ ซึ่งมอเตอร์จะอยู่ทางด้านบนของบันไดเลื่อน  โดยที่ส่วนของมอเตอร์ และเฟืองนั้นจะอยู่ใต้แผ่นเหล็ก ที่รับน้ำหนักได้มาก เช่น อาจมากถึง 500 กิโลกรัมต่อตารางเมตร และก็แผ่นเหล็กนี้วางพาดอยู่บนโครงสร้างอีกที คล้ายๆกับฝาปิดท่อระบายน้ำ

สอง  ส่วนของ Truss  หรือโครงสร้างของบันไดเลื่อน  โครงสร้างนี้จะเป็นตัวรับน้ำหนักของ ขั้นบันได และตัวบันไดเลื่อน และก็รวมถึงน้ำหนักของผู้โดยสารที่ใช้บันไดเลื่อน

สาม  ส่วนของ รางเลื่อน ชุดโซ่ และขั้นบันได  ส่วนนี้จะเป็นเหมือนขั้นบันได เวลามันอยู่นิ่งๆ ไม่เคลื่อนที่ ผู้สัญจรก็สามารถเดินบนขั้นบันไดเหล่านี้ ได้   แต่ต่างจากขั้นบนไดปกติ ตรงที่จะมีฟันในแต่ละขั้น ที่จะทำให้ขั้นเหล่านี้เคลื่อนอยู่ในทางของมัน

สี่  ส่วนของ ที่จับ  (Hand rail)  เอาไว้เพื่อความสะดวก ของผู้โดยสาร  โดยส่วนที่จับ จะเคลื่อนไปพร้อมๆ กับส่วนของบันได เนื่องจาก ทุกชิ้นส่วน อยู่บนชุดขับเคลื่อนเดียวกัน
ส่วนประกอบของบันไดเลื่อน



สำหรับบันไดเลื่อนในประเทศไทยนั้น ส่วนใหญ่ เกือบทั้งหมดถูกดูแล เป็นอย่างดี มีการบำรุงรักษาอยู่สม่ำเสมอ โดยเฉพาะส่วน sensor อัตโนมัติที่จะทำงานให้บันไดเลื่อนหยุดทำงานเอง

โดยปกตินอกจากปุ่มฉุกเฉินที่ไว้กด สำหรับให้บันไดเลื่อนหยุดทำงาน ในกรณีที่มีเหตุแล้ว ในชุดอุปกรณ์บันไดเลื่อนเอง ก็ยังมี sensor ที่จะทำงานอัตโนมัติ เพื่อให้บันไดเลื่อนหยุด  เช่นกรณีที่ขั้นบันไดมีการสะดุด  sensor ก็จะทำงานให้บันไดเลื่อนหยุดอัตโนมัติ  หรือกรณีมีการกระแทก  หรือกรณีที่มีคนกดปุ่มฉุกเฉินเป็นต้น  บันไดเลื่อนก็จะต้องหยุด   ซึ่งในการตรวจสอบบันไดเลื่อนนั้น ผู้ตรวจสอบต้องทำการตรวจ sensor ฉุกเฉินเหล่านี้  และควรฝึกให้พนักงานที่ทำงานอยู่ใกล้ๆ กับบันไดเลื่อนนั้นฝึกการใช้ ปุ่มฉุกเฉิน ว่ากดอย่างไร

สำหรับอุบัติเหตุที่เกิดกับบันไดเลือนที่พบบ่อย ก็ได้แก่

1. อุบัติเหตุจากผู้ใช้ จากการประมาท ไม่จับราวบันไดเลือน การปล่อยให้เด็กใช้โดยลำพัง  การวิ่งเล่นบนบันไดเลื่อน เป็นต้น

2. อุบัติเหตุจากผู้ใช้  กรณีบันใดเลื่อนอยู่ชิดกันมาก ผู้ใช้ยื่นร่างกายออกนอกบันไดเลื่อน  ดังเกิดอุบัติเหตุบันไดเลื่อนหนีบศรีษะเด็ก ที่ห้างแห่งหนึ่ง  แต่ทั้งนี้มาตรฐานการติดตั้งบันไดเลื่อนบอกไว้ว่าการติดตั้งบันไดเลื่อนห้ามชิดกันเกิน ห้าสิบเซนติเมตร ถ้าชิดกันมากกว่านั้น ต้องมีการป้องกัน และเตือน หรือมีแนวป้องกัน

สำหรับ ผู้ใช้บันไดเลื่อน ทั่วๆไป มีวิธีการสังเกตุง่ายๆ ว่าบันไดเลื่อนของท่าน ได้รับการบำรุงรักษาดีหรือไม่  ให้สังเกตุตรงซี่และหวีบันได  ว่าทุกซี่ต้องไม่แตกหัก  เพราะสองส่วนนี้เป็นส่วนที่สังเกตุเห็น และตรวจพบได้ง่าย  หากมีการดูแลรักษาอย่างดี ก็จะไม่มีลักษณะดังกล่าว

สุดท้ายนี้ขอให้ท่านผู้ใช้บันไดเลื่อนมั่นใจว่า บันไดเลื่อนในประเทศไทยนั้น  ส่วนใหญ่ได้รับการบำรุงรักษาอย่างดี และโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุจากตัวบันไดเลื่อนเองนั้น เป็นไปได้ยาก  อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นนั้นบ่อยครั้ง เกิดจากความประมาทของผู้ใช้บันไดเลื่อนเอง

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น