หน้าเว็บ

อัคคีภัยในตึกสูง : คอลัมน์ฟรีสไตล์ เรื่องบ้าน-บ้าน โดย เมตตา ทับทิม


สังคมไทยได้บทเรียนอะไรจากเหตุเพลิงไหม้ซอยนราธิวาส 18 บ้าง อย่างน้อยก็เป็นอุทาหรณ์สอนคนในสังคมเรื่องความปลอดภัยของอาคารได้เป็นอย่างดี โดยมารยาทเราคงไม่ไปคาดเดาว่าสาเหตุเกิดจากอะไร เพราะอย่าลืมว่าหลังเพลิงสงบ สิ่งที่ตามมายังมีอะไรให้ทำอีกเยอะแยะ หนึ่งในเรื่องยุ่งๆ ก็ยังมีประเด็นการประกันภัยซึ่งทางเจ้าของตึกจะต้องไปถกกับบริษัทประกันอีกมากมาย ในกรณีถ้าทำประกันภัยไว้นะคะ
       เพราะฉะนั้น ปล่อยให้ข้อเท็จจริงของสาเหตุที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้ทำงานของมัน เราอย่าไปยุ่งจะดีกว่า แต่ไหนๆ ก็มีกรณีศึกษาเกิดขึ้นมาอย่างนี้ ปรากฏว่า มีคำถามเข้ามาเยอะแยะมากมาย ไฟไหม้จะทำยังไง ตอนเพลิงกำลังโหมถ้าติดอยู่ในตึกจะช่วยตัวเองได้ยังไง ไฟไหม้เกิดจากอะไร ไฟจะดับเร็วไหม ฯลฯ (แหม! บางคำถามก็ไม่รู้จะตอบยังไง เนาะ)
       วันนี้มีข้อมูลมาแลกเปลี่ยนจาก 2 มุมมอง เริ่มแรกมาจากนักวิชาชีพ ทาง "วสท." ชื่อเต็มๆ คือ "วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์" ตอบรับกระแสตื่นรู้ของสังคมได้อย่างรวดเร็วทันใจ มีการจัดคณะนักวิศวกรลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพอาคาร สรุปลักษณะการลามของไฟอย่างน่ากลัวว่า น่าจะเกิดในห้องนั่งเล่นชั้น 3 แล้วลามขึ้นไปถึงชั้น 9 มีแสงเพลิงและกลุ่มควันนานกว่า 2 ชั่วโมง เฮ้อ! บรรยายแค่นี้พอดีกว่าค่ะ
       กรณีครั้งนึ้นำไปสู่ความร่วมมือในการจัดทำ "มาตรฐานความปลอดภัยด้านอัคคีภัย สำหรับอาคาร 9 ประเภทในประเทศไทย" ถามว่าทำไมต้องมี 9 ประเภท คำตอบสำเร็จรูปคือเป็นคำนิยาม หรือการกำหนดตามกฏหมายควบคุมอาคารนั่นเอง
       อาคาร 9 ประเภทในประเทศไทย หรืออาจจะในโลกนี้ก็ได้ แบ่งรายละเอียด ดังนี้ 1.โรงแรม 2.โรงพยาบาล 3.ห้างสรรพสินค้า 4.โรงงาน 5.สำนักงาน 6.ที่พักอาศัย 7.ตลาดเก่า ชุมชนเก่า หรือตลาดอนุรักษ์ 8.โรงเรียน สถานศึกษา 9.สถานบริการ
       รายละเอียดทางวิชาการถ้าอยากรู้ให้คลิกเว็บไซต์ วสท.ก็แล้วกัน ที่แน่ๆ มีคำแนะนำถึงใครก็ตามที่เป็นเจ้าของอาคารขนาดใหญ่ วิธีการดูคือ มีพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป ถ้าเป็นหอพักอพาร์ตเมนต์ก็มีตั้งแต่ 4 ห้องขึ้นไป เป็นต้น ควรจะต้องให้ความสำคัญด้านการป้องกันและระงับอัคคีภัย 6 จุดหลักด้วยกัน
       เริ่มจาก 1.ระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ เขาบอกว่าทาวน์เฮาส์หรือตึกแถวควรติดตั้งทุกชั้นทุกยูนิต 2. ส่วนประกอบของระบบเตือนภัย ปกติมี 2 อุปกรณ์คือ ระบบแจ้งเหตุซึ่งมี 2 แบบคือแบบอัตโนมัติ (Detector) กับแจ้งเหตุด้วยมือ (Manual Alarm) กับอุปกรณ์ส่งสัญญาณเตือน เสียงจะดังระทึกใจมาก
       3.การติดตั้งถังดับเพลิงแบบมือถือ กฏหมายบอกว่า ถ้าทาวน์เฮาส์หรือตึกแถวสูงไม่เกิน 2 ชั้น ต้องติดตั้ง 1 เครื่อง/1 ยูนิต แต่ถ้าเป็นอาคารประเภทที่เหลือต้องติดตั้งอย่างน้อยชั้นละ 1 เครื่องต่อพื้นที่ไม่เกิน 1,000 ตารางเมตร ระยะห่างก็ควบคุมต้องไม่เกิน 45 เมตร 4.ป้ายบอกชั้นและทางหนีไฟ
       5.ระบบจ่ายพลังงานไฟฟ้าสำรอง เช่น แบตเตอรี่ เครื่องปั่นไฟ ถ้าเกิดเหตุฉุกเฉินจะต้องจ่ายไฟได้ไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง จุดจ่ายไฟที่ต้องมีคือจุดที่มีป้ายทางออกฉุกเฉิน บันไดหนีไฟ ทางเดิน และ 6.บันไดหนีไฟ ซึ่งจะติดตั้ง 1 จุดหรือ 2 จุดขึ้นกับขนาดตัวตึก ได้แก่ ตึกที่สูง 4 ชั้นขึ้นไปแต่ไม่เกิน 23 เมตร (8 ชั้น) หรือมีดาดฟ้า 16 ตารางเมตร กฏหมายให้ติดตั้ง 1 จุด ถ้ามากกว่านี้ ต้องติดตั้ง 2 จุด

ภาพจาก-วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ

       อีกมุมมองมาจาก "บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด" เป็นผู้รับบริหารอาคาร 200 กว่าแห่ง รวบรวมสถิติให้ดูว่า เฉพาะในเขตกรุงเทพๆ มีตึกสูงเกิน 7 ชั้น 3,000 ตึก เป็นตึกสร้างใหม่หรืออายุต่ำกว่า 10 ปีเพียง 33.33% ที่เหลือเป็นตึกเก่าอายุเกิน 20 ปี มีอีกวิธีจะดูตึกเก่าหรือใหม่ก็ขอดูว่าขออนุญาตก่อสร้างก่อนหรือหลังกฏหมายควบคุมอาคารปี 2535
       ถ้ายังน่ากลัวไม่พอ มีข้อมูลแถมมาให้อีกจาก 2 กรม ได้แก่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กับ กรมทรัพยากรธรณี ระบุว่า สถิติปี 2531-2552 ประเทศไทยเกิดอัคคีภัย 47,000 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 3,700 คน เสียชีวิตมากกว่า 1,600 คน มูลค่าเสียหายไม่ต่ำกว่า 28,000 ล้านบาท
       จะเชื่อหรือไม่ก็ตาม เขาบอกว่าแม้กฏหมายจะบังคับให้ออกแบบและวางระบบป้องกันแค่ไหนก็ดีได้แค่ระดับหนึ่ง ในขณะที่จะพบว่าบางอาคารเวลาเกิดเหตุเพลิงไหม้แล้วไม่สามารถควบคุมเพลิงได้ทันนั้น สาเหตุจากไม่มีการตรวจสอบหรือบำรุงรักษาระบบเตือนไฟหรือ Fire Alarm กับระบบสปริงเกลอร์หรือระบบระงับเหตุเพลิงไหม้อย่างสม่ำเสมอ
       นอกจากนี้ พี่ไทยยังเป็นมนุษย์ชอบต่อเติมอาคาร ซึ่งการเปลี่ยนอาคารถือเป็นสาระสำคัญของความปลอดภัยโดยตรง เช่น การกั้นผนังอาคาร ถ้าจะทำเพิ่มก็สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องแจ้งข้อมูลแก่ผู้ออกแบบอาคาร เพื่อจะได้ช่วยกับปรับเปลี่ยนระบบป้องกันอัคคีภัยให้สอดคล้องตามไปด้วย นี่คือตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ แต่สำคัญอย่างคาดไม่ถึง
       จะเห็นว่าไปๆ มาๆ จุดอันตรายที่สุดของความปลอดภัยมักจะเกิดจากจุดอ่อนของคนหรือที่เรียกว่า Human Error เพราะฉะนั้น ลุกขึ้นมาสำรวจอาคารของคุณเองตั้งแต่วันนี้ และร่วมด้วยช่วยกันเป็นส่วนหนึ่งของ "สารวัตรความปลอดภัย" กันเถอะค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน
ฉบับ วันเสาร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2559

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น