ปี พ.ศ. 2555 ประมาณกลางปีผมทราบมาว่าประเทศไทยจะมีโครงการใหญ่เกิดขึ้น เป็นโครงการระดับประเทศ ซึ่งขณะนั้นเองผมก็ไม่แน่ใจว่าบริษัทของเราจะรับทำงานนี้หรือไม่ หรืออีกอย่างทางเจ้าของโครงการจะให้เราทำงานนี้ไหม แต่สุดท้ายทุกอย่างก็ลงตัวทั้งเรื่องเวลาและโอกาส และต้องขอขอบพระคุณ พี่ประสงค์ พี่สัมพันธ์ และพี่อุทัย ที่ให้โอกาสผมได้มีส่วนรวมในการทำงานโครงการนี้
โครงการนี้มีชื่อเต็มว่า “โครงการจัดสร้างพระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธาราชอนุสรณ์ในพระบรมราชินูปถัมภ์” ณ วัดทิพย์สุคนธาราม อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี เกิดจากความตั้งใจของสมเด็จพระมหาธีราจารย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม ท่านมีความประสงค์ในการจะสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ปางขอฝน และยังเป็นการระลึกถึงพระพุทธรูปบาบียันที่ได้ถูกทำลายลงที่ประเทศอัฟกานิสถาน
ในการก่อสร้างองค์พระพุทธเมตตาฯ ความสูง 32 ม. ประทับด้วยพระบาท 2 ข้าง ในท่ายืนตรง แบ่งเป็นงานหลักๆ ได้ 3 ส่วน ดังนี้
ส่วนที่ 1. งานฐานคอนกรีตสำหรับองค์พระ
ส่วนที่ 2 โครงสร้างเหล็กสำหรับใช้ยึดผิวโลหะสัมฤทธิ์
ส่วนที่ 3 โลหะสัมฤทธิ์ที่หล่อและประกอบขึ้นรูปเป็นองค์พระ
ตอนทำงานมีหลายท่านถามว่า โครงสร้างฐานที่รองรับองค์พระ ใช้เสาเข็มแบบไหน ขนาดและความลึกอย่างไร มักเป็นคำถามที่ถูกถามบ่อย ผมเข้าใจว่าน่าจะมาจากขนาดขององค์พระที่มีขนาดใหญ่ ประกอบกับบริเวณรอบงานองค์พระมีงานเสาเข็มของลานประทักษิณที่ได้ขึ้นงานก่อนแล้ว เป็นเสาเข็มสี่เหลี่ยมตันขนาด 0.35 x 0.35 ม. ยาว 5 ม. ขณะนั้นผมก็บอกหลายท่านไปว่าฐานที่รองรับองค์พระไม่มีเสาเข็มครับ ทุกท่านดูแปลกใจจึงอธิบายว่าจริงๆแล้วฐานรากขององค์พระกับปลายเสาเข็มที่ตอกลงไปของลานประทักษิณอยู่ระดับเดียวกัน เพราะฐานรากองค์พระต้องขุดลึกลงไปจากดินเดิมประมาณ 4.5 ถึง 5 ม. จะพบชั้นดินดานที่แข็งมาก แต่อย่างไรอีกใจหนึ่งเราเองคิดว่าน่าจะลองถามผู้ออกแบบเพื่อให้ได้ข้อมูลที่แท้จริง ก็ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีครับที่ผู้ออกแบบเป็นผู้ที่พวกเราชาว PPS รู้จักกันดี ท่านผู้นั้นคือ ดร.สุทธิพล วิวัฒนทีปะ ซึ่งท่านมีความกรุณาอย่างสูงในการให้รายละเอียด วันที่ผมเข้าไปพบ ท่านก็เอาเครื่องคอมพิวเตอร์มาเปิดและอธิบายแรงที่กระทำต่างๆ ทั้งแรงลม แผ่นดินไหว และอื่นๆ ซึ่งเป็นการคำนวณขั้นสูง แต่ท้ายสุดท่านสรุปว่าจะเกิดแรงที่กระทำใต้ฐาน ประมาณ 11-12 ตัน /ตร.ม ท่านอาจารย์บอกว่า “ดินที่รองรับฐานของเรารับแรงได้เยอะ ไม่ต้องกังวล เหลือเฟื้อสบายใจได้” และเมื่อโครงการมีการทดสอบกำลังดิน ผลทดสอบที่ได้มีค่ามากกว่าที่กำหนด โดยแบบระบุให้ดินที่รองรับฐานรากต้องรับน้ำหนักบรรทุกปลอดภัยได้ไม่น้อยกว่า 20 ตัน ต่อตารางเมตร ผมเองขอให้ข้อมูลเกี่ยวกับน้ำหนักต่างๆ เริ่มจากฐานรับองค์พระเป็นคอนกรีตฐานกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 11 เมตร สูง 12 เมตร น้ำหนักฐานประมาณ 850 ตัน น้ำหนักผิวองค์พระ 60 ตัน น้ำหนักโครงเหล็ก 120 ตัน รวมน้ำหนักทั้งหมด 1,030 ตัน พื้นที่ฐานพระ 95 ตร.ม ลองเอาน้ำหนักหารพื้นที่แล้ว แรงที่กระทำประมาณ 10.30 ตันต่อตารางเมตร “ก็สบายใจได้จริงครับยังเหลืออีกเยอะ” อีกจุดหนึ่งที่มีผลต่อความแข็งแรง คือ การถ่ายแรงจากโครงเหล็กเข้าฐานคอนกรีต เดิมออกแบบไว้เป็น Bolt ขันแน่น ฝังในฐานคอนกรีตส่วนบนหนา 1.50 ม. ผมต้องขอกล่าวอีกครั้งว่าด้วยเป็นโครงการระดับประเทศจึงได้รับความร่วมมือจากหลายๆฝ่าย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย หรือ AIT ที่มาที่ไปเกิดจากคณะกรรมการฯ หลายๆ ท่าน ไม่เคยผ่านงานลักษณะแบบนี้ แต่เมื่อเข้ามารับหน้าที่ก็ต้องเต็มที่กับงาน โดยทุกคนต้องท่องไว้ คือ ห้ามมีข้อผิดพลาดใดๆทั้งสิ้น ก็เลยคิดกันว่าควรมีการตรวจสอบซ้ำของงานออกแบบกันไหม สุดท้ายคณะกรรมการฯ ก็ลงความเห็นว่า อย่างไรก็น่าจะดีต่องานจึงได้นำไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว คือ ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ท่านได้จำลององค์พระขนาดเล็กเข้าทดสอบใน 23 อุโมงค์ลม และทำการวิเคราะห์ต่างๆ จนสุดท้ายได้ข้อสรุปว่า โครงเหล็กที่ออกแบบและการยึดฐานโครงเหล็กเข้ากับ Bolt ที่ฝังในฐานคอนกรีตสามารถรับแรงได้ และท่านแนะนำเพิ่มว่าควรใส่แรงใน Bolt เพิ่มเข้าไป (Prestressing) เพื่อป้องกันการคลายและขยับตัวของโครงเหล็กจากแรงลมและแผ่นดินไหว คือ เมื่อเกิดแรงกระทำต่อโครงสร้าง ฐานโครงเหล็กจะมีแรงดึงกลับตลอดเวลาเพื่อให้สนิทกับฐานคอนกรีต ก็ถือว่าเป็นวิธีการที่ดีครับจะได้ไม่เกิดแรงเยื้องศูนย์ขององค์พระในอนาคตที่เกิดการเคลื่อนตัวออกไป ถึงจุดนี้งานออกแบบก็ไม่ต้องกังวลแล้ว แต่ยังมีสิ่งที่ต้องกังวลต่อไปเป็นส่วนของงานก่อสร้าง
เมื่อเริ่มก่อสร้างส่วนฐานราก ปัญหาที่เราพบเป็นเรื่องปริมาณคอนกรีตที่ใช้ เนื่องจากโครงการค่อนข้างอยู่นอกเขตพื้นที่ โรงผลิตคอนกรีตจะมีรถลำเลียงคอนกรีตไม่มาก ตามที่ได้พูดคุยจะมีรถอยู่ประมาณ 5 คัน และกำลังผลิตชั่วโมงละ 25-30 ลบ.ม แต่เราต้องใช้คอนกรีตประมาณ 150 ลบ.ม สำหรับเทฐานราก ประกอบกับฐานรากมีความหนามาก จะมีปัญหาเรื่องความร้อนที่ไม่เท่ากันของคอนกรีตระหว่างภายในกับภายนอกฐานราก จะทำให้เกิดการแตกร้าวของคอนกรีตได้ โดยทางผู้ออกแบบระบุให้ใช้คอนกรีตพิเศษแบบ Low Heat ซึ่งโรงผลิตคอนกรีตที่มีอยู่ไม่สามารถผลิตคอนกรีตพิเศษนี้ได้ แต่โชคดีของโครงการที่ท่านประธานฝ่ายก่อสร้างเคยเป็นผู้บริหารในบริษัทปูนซิเมนต์ไทย เลยได้รับความอนุเคราะห์เป็นพิเศษในการทำงานนี้ โดยทางปูนซิเมนต์ไทยได้จัดบุคลากรเข้ามาช่วยในการวางแผนงานและให้คำแนะนำต่างๆ โดยครั้งนี้ได้ระดมคอนกรีตจาก 3 โรงผลิต และจัดรถลำเลียงคอนกรีตในละแวกที่ใกล้เคียงกับโครงการมาช่วยในวันที่จะเทคอนกรีต ปัญหาของคอนกรีตก็เลยผ่านพ้นไปด้วยดี ทำให้เราสามารถก่อสร้างมาจนถึงฐานส่วนบน เราก็เจอปัญหาที่ต้องเคลียร์ต่อ เป็นตำแหน่งของ Bolt ที่ต้องฝังในฐานคอนกรีต จำนวน 48 ตัว (พระบาทละ 24 ตัว) ปัญหาอยู่ที่ตำแหน่ง Bolt เกิดความคลาดเคลื่อนโครงเหล็กที่เตรียมไว้จะไม่สามารถสวมและติดตั้งได้ เพราะโครงเหล็กที่ประกอบขึ้นรูปจะมีฐานรองรับเป็นฐานคู่ตามพระบาทองค์พระ ฉะนั้น ตำแหน่งต้องห้ามผิดพลาดเลย โดยแนวทางที่ดำเนินการเราทำเป็น Template ล๊อคตำแหน่งของ Bolt ไว้ทั้งหมด และใช้ท่อ Corrugated steel duct หุ้ม Bolt ไว้สำหรับใช้ Grout น้ำปูน โดยเราเลือกขนาดท่อที่ใหญ่หน่อยเพื่อให้ Bolt สามารถขยับต้วได้บ้าง เมื่อเตรียมการเสร็จเราก็เทคอนกรีตฐานส่วนบนที่มี Bolt ฝังไว้แล้วโดยรูปแบบงานคอนกรีตจะเหมือนกับที่เราทำฐานรากที่วางอยู่บนดินครับ ต่อจากนี้ก็รอโครงเหล็กส่วนที่ 1. มาติดตั้ง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างประกอบขึ้นรูป โดยผมหวังว่าโครงเหล็กที่เตรียมไว้สามารถเข้ากับงานเราได้พอดี
เราทราบรายละเอียดในส่วนฐานรากที่รองรับองค์พระกันไปแล้ว ต่อไปเรามาดูงานโครงเหล็กภายในองค์พระกันต่อครับ ซึ่งโครงเหล็กภายในองค์พระเราแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเราเรียกว่าโครงเหล็กหลัก ทำหน้าที่เปรียบเหมือนกระดูกสันหลัง และอีกส่วนเป็นโครงเหล็กรองจะคล้ายกับกระดูกซี่โครงของคนเรานี่เอง ก่อนเริ่มทำงานเราได้ผู้ที่มีประสบการณ์และความเข้าใจในงานก่อสร้างประเภทนี้เป็นอย่างดี ท่านได้เคยผ่านการทำงานมาแล้วเป็นองค์พระพิฆเนศ ท่ายืนตรง ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ท่านผู้นั้นก็คือ รศ.ปราโมทย์ ธาราศักดิ์ ท่านได้ให้ข้อสังเกตของปัญหาที่ท่านพบเป็นกรณีของกระดูกออกนอกเนื้อ เข้าใจง่ายๆ ก็คือไม่สามารถติดตั้งผิวโลหะได้เนื่องจากติดโครงเหล็ก ผมเองก็นำคำแนะนำที่ดีของท่านมาประกอบการทำงานเสมอ
เมื่อโครงเหล็กเริ่มประกอบขึ้นรูปที่จังหวัดระยอง เราก็จัดทีมงานไปประจำเพื่อติดตามและตรวจสอบงานอย่างใกล้ชิด ในการตรวจสอบและควบคุมงานเราแบ่งตามความสำคัญของงาน ถ้าเป็นเรื่องกำลังการรับแรงเราก็จะเน้นการตรวจสอบที่โครงเหล็กหลัก โดยเริ่มตั้งแต่ตรวจโรงผลิตเหล็กที่นำมาใช้ ทีมช่างเชื่อมที่ต้องมีใบรับรองการเชื่อมแต่ต้องขอบอกว่าช่างเชื่อมก็แบ่งเป็นหลายระดับเหมือนกันครับ ไม่ใช่ว่ามีใบรับรองแล้วเชื่อมได้หมด เมื่อประกอบขึ้นรูปเสร็จแล้ว เราต้องตรวจสอบรอยเชื่อมด้วยวิธีการต่างๆ ตั้งแต่ Visual Test , Dye Penetration Test และ Ultrasonic Test แต่ถ้าพิจารณาขนาดโครงเหล็กที่ทำแล้วให้ได้ระยะที่ลงตัวกับผิวองค์พระจะเป็นโครงเหล็กรอง ซึ่งจะลดระยะจากผิวองค์พระลงประมาณ 25 ซม.โดยรอบ แต่ก็ไม่น่ากังวลมาก เพราะทางผู้ออกแบบได้ให้แนวทางว่าถ้าผิวองค์พระที่นำมาติดตั้ง ติดโครงเหล็กรองสามารถตัดปรับได้ แต่ถ้าเป็นโครงเหล็กหลักห้ามตัดเด็ดขาด ให้แจ้งผู้ออกแบบพิจารณาก่อน
เมื่อฐานคอนกรีตรับองค์พระเสร็จสมบูรณ์ โครงเหล็กติดตั้งบนฐานคอนกรีตเป็นที่เรียบร้อย จากนี้ไปก็เป็นงานส่วนสุดท้ายขององค์พระ คือ การนำเอาโลหะสัมฤทธิ์ที่ประกอบขึ้นรูปแล้วมาประกอบกับโครงเหล็กต่อไป โดยรายละเอียดของงานจะขอกล่าวในบทความตอนที่ 2.
1 ความคิดเห็น:
ความรู้ที่แชร์ดีมากเลยคะ
แสดงความคิดเห็น