หน้าเว็บ

การซ่อมแซมบ้านในช่วงหน้าหนาว



เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวกันแล้วนะคะ ฤดูนี้นี่ถือว่าเหมาะกับการซ่อมแซมบ้านที่สุด เพราะฝนหยุดตกแล้วและสภาพอากาศค่อนข้างเย็นสบาย แต่จะลงมือซ่อมอะไรก่อนหลังนั้น เราควรเริ่มต้นด้วยการเดินสำรวจให้ทั่วบริเวณทั้งภายในและภายนอกบ้านว่ามีจุดใด ที่เสียหายจากฟ้าฝนบ้าง เช่น มีน้ำรั่วซึมที่ฝ้าเพดาน สีทาผนังโปร่งพอง จะได้แก้ไขได้ตรงจุด วันนี้ช่างมันส์บล็อกจึงมี 10 ขั้นตอนการซ่อมบ้านในช่วงหน้าหนาวมาฝากกันค่ะ







1. เริ่มเดินสำรวจบ้าน
ควรเดินดูรอบ้าน ทั้งภายในและภายนอก หากพบความเสียหาย ควรจดบันทึก หรือ ถ่ายรูปไว้ เพื่อวางแผนซ่อมแซมตามลำดับความสำคัญ


2. ดาดฟ้า และรอยรั่วซึม
หลังคาแบนมีน้ำขังนาน พื้นผิวปูนอาจมีการแตกร้าว หรือแม้แต่ท่อน้ำอุดตัน เราจะสังเกตได้จากฝ้าเพดานด้านในอาคาร หากเห็นรอยน้ำหยดลงจากฝ้า ให้รีบไปดูที่ดาดฟ้าของบ้าน
ข้อแนะนำ: ถ้าพื้นดาดฟ้ามีความเอียงน้อย หรือเป็นแอ่งน้ำเล็กๆ ให้เทปูนปรับระดับพื้นผิวใหม่ ใช้ซิลิโคนอุดซ่อมรอยแตกร้าว แล้วเคลือบทับด้วยวัสดุกันซึม และที่สำคัญ ควรรอดูผลการซ่อมแซมก่อนที่จะติดตั้งฝ้าเพดานภายในบ้านค่ะ



 

3. หลังคากระเบื้องรั่วซึม
กระเบื้อง หรือ ครอบสันหลังคาแตกร้าว หรือแม้แต่ระยะซ้อนทับกระเบื้องน้อย เมื่อลมพัดน้ำฝนอาจเข้ามาใต้หลังคาได้
ข้อแนะนำ: ถ้าหาจุดรั่วซึมที่แน่นอนได้แล้วให้ทา “อะคริลิก” กันซึม หรือเปลี่ยนเฉพาะแผ่นหลังคาที่ชำรุด



4. ฝ้าเพดานเป็นรอยด่างดวง
รอยบนแผ่นฝ้าถือเป็นสัญญาณเตือนปัญหาจากการรั่วซึมของหลังคา หรือมีพวกแมลงหนู แอบอาศัยอยู่ด้านบนแผ่นฝ้า
ข้อแนะนำ:
-    กรณีฝ้าเป็นแบบ “ฉาบเรียบ” ให้เจาะส่วนที่เป็นเชื้อรา หรือมีรอยบวมออกก่อน แล้วตัดแผ่นยิปซัมชิ้นใหม่มาใส่แทน
-    หากฝ้าเป็นแบบ “ทีบาร์” ให้รื้อฝ้าในส่วนที่ชำรุดออก แล้วเปลี่ยนแผ่นใหม่
-    และที่สำคัญ คราบน้ำรั่วที่ปรากฏอยู่ บางครั้งอาจจะเป็นน้ำที่ไหลจากจุดที่รั่วจุดอื่นไหลมานองอยู่บริเวณดังกล่าว ดังนั้นจึงต้องหาจุดรั่วซึมที่แน่นนอนเพื่การซ่อมแซมที่ตรงจุด!!

5. น้ำซึมผ่านผนังรอบๆช่องเปิด
การยืดหดตัวของประตูหน้าต่าง ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างโครงสร้าง/ร่องยาแนวบล็อกแก้วอาจเสื่อมคุณภาพ
ข้อแนะนำ: ใช้ “ซิลิโคน” หรือ “พอลิยูรีเทน” มาอุดรอยต่อ ส่วนร่องยาแนวบล็อกแก้วเสื่อมคุณภาพให้ขูดออกมาแล้วยาแนวใหม่ หรือทำกันสาดเหนือวงกบ และเซาะร่องทำบัวหยดน้ำเพื่อไม่ให้น้ำไหลย้อนกลับเข้ามา



6. ผนังฉาบปูนแตกร้าว / หลุดล่อน
ผิวปูนฉาบแตกลายงา เป็นเพราะการฉาบที่ไม่ดี ส่วนผิวปูนฉาบหลุดล่อนเป็นเพราะ เนื้อปูนเสื่อมสภาพ
ข้อแนะนำ:
-    ผิวปูนแตกลายงา ให้ใช้กระดาษทรายขัดแต่งผิว แล้วใช้ “อะคริลิก” มาอุดโป๊ จากนั้นทาสีที่มีความยืดยุ่นสูงทับหน้า เพื่อช่วยปกปิดการแตกลายงา
-    ผิวปูนฉาบหลุดล่อน ใช้เกรียงแซะผิวปูนที่หลุดล่อนออกมาผสมปูนฉาบสำเร็จรูปกับยากันซึม จากนั้นฉาบแต่งให้เข้ากับผนังเดิม
สำคัญที่สุดเลย “รอยแตกร้าวของบ้าน คือ สัญญาณบอกเหตุปัญหาของบ้าน” โดยรอยร้าวที่มีความกว้างเกิน 0.5 มิลลิเมตร / ผนังบ้านมีรอยร้าวในแนวเฉียงที่ทำมุม 45 องศากับพื้นบ้าน/รวมถึง เสา, คาน, พื้น
***** หากมีรอยแตกร้าวจนมองเห็นเหล็กภายใน ….ควรเรียกวิศวกรมาตรวจสอบ เพื่อความปลอดภัย*****

7. พื้นคอนกรีต / พื้นโรงรถ ทรุดและแตกร้าว
โดยทั่วไปอาการนี้เกิดจากดินทรุดตัวโดยธรรมชาติ
ข้อแนะนำ: ควรทุบพื้นเดิมออก แล้วทำฐานใหม่ เช่น ถมดิน หรือทรายแล้วบดอัดให้แน่น จากนั้นเทพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กใหม่ หรือเสริมการรับน้ำหนักด้วยการลงเสาเข็ม 1 ต้นต่อ 1 ตารางเมตร และ ควรทำเมื่อพื้นมีความเสียหายมากพอสมควร จะได้รื้อใหม่ในคราวเดียวกัน


8. ล้างแอร์
การล้างแอร์หลายๆคนอาจจะคิดว่า ไว้หน้าร้อนก่อนค่อยล้างก็ได้ แต่จริงๆแล้วไม่ว่าจะหน้าร้อน หรือ หน้าหนาว ล้างแอร์ไว้ก่อนเป็นอันว่าดี เพราะช่วยให้คุณประหยัดค่าไฟ แถมได้สุขภาพที่ดีอากาศสดชื่นด้วย






9. ท่อน้ำประปารั่ว
ให้สังเกตที่พื้นดินโดยรอบ ถ้ามีท่อแตก หรือน้ำรั่วซึม พื้นดินหรือสนามบริเวณนั้นจะเปียกชื้น และทรุดต่ำกว่าที่อื่น
ข้อแนะนำ: ให้ปิดก๊อกน้ำทุกจุด แล้วดูมาตรวัดน้ำ ว่าตัวเลขมีการเคลื่อนไหวหรือไม่ ถ้ามีแสดงว่ามีท่อน้ำรั่ว ให้รีบแก้ไขโดนด่วน

10. สายไฟเปี่อย / ฉีกขาด

เรื่องไฟฟ้าถือเป็นเรื่องสำคัญ หากพลาดไปอาจเกิดอุบัติเหตุได้ เพราะฉะนั้น หากเจอสายไฟที่ชำรุด ให้เปลี่ยนสายไฟทันที
ควรตรวจระบบสายไฟฟ้าทั้งภายใน และภายนอกบ้านปีละครั้ง หรือ เปลี่ยนระบบไฟฟ้าใหม่ทั้งหมดทุก 15 - 20 ปี
ข้อแนะนำทิ้งท้าย: หากพบว่าสายไฟสีดำคล้ำ ฉนวนหุ้มสายแตกกรอบมีรอยปริจนเห็นสายทองแดง ให้เรียกช่างไฟฟ้ามาเปลี่ยนใหม่ทันที

และนี้คือ 10 ขั้นตอนการซ่อมบ้านในช่วงหน้าหนาว ที่ช่างมันส์บล็อกนำมาฝากกัน หากมีงบประมาณจำกัดให้เลือกซ่อมงานโครงสร้าง หรือเลือกซ่อมในส่วนที่ทำให้เราเดือดร้อน เพื่อป้องกันปัญหางบประมาณบานปลายค่ะ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น