หน้าเว็บ

ประสงค์ ธาราไชย พัง แพง พอดี แนวคิดจากการเรียนสู่การงาน จาก Engineering Today ฉบับที่ 1 ( 3 มีนาคม 2546)


กว่าที่ชีวิตจะดำเนินมาถึงปัจจุบัน ทุกคนต้องพบกับสถานการณ์หลายอย่างที่ ต้องตัดสินใจ ผิดบ้างถูกบ้าง ล้วนเป็นเรื่องที่เราจะต้องเรียนรู้สำหรับสถานการณ์ใหม่ เช่นเดียวกับ คุณประสงค์ ธาราไชย บุคคลที่ผ่านประสบการณ์ด้านการควบคุมงานก่อสร้างมาอย่างโชกโชน ตั้งแต่คอกสุนัขสงครามจนมาถึงอาคารสูงที่สุดในประเทศไทยในปัจจุบัน (อาคาร ใบหยก 1, 2) ตลอดจนท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง และเป็นหนึ่งในบริษัทร่วมกิจการค้า (Joint Venture) ที่ทำหน้าที่ควบคุมงานก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินสายเฉลิมรัชมงคล ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของไทย

ประสงค์ ธาราไชย

          คุณประสงค์ บอกว่ากิจกรรมที่เคยทำใน สมัยเรียน สามารถช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำงานได้มาก และประสบการณ์ใหม่จะช่วยต่อยอดให้มีแนวคิดกว้างไกลออกไป หนังสือ "ประสบการณ์งานช่าง" ที่ท่านบรรจงเขียนเป็นสื่อถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้ได้ดี ท่านมีแนวคิดง่ายๆ แต่แฝงไว้ด้วยหลักการ ทำให้ชีวิตที่บางครั้งดูจะยุ่งยาก กลับผ่านพ้นมาได้ด้วยดี... ปัจจุบัน ท่านดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการ บริษัท โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส จำกัด และ เลขาธิการ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ



ตกผลึกแนวคิด : พัง - แพง - พอดี

          คุณประสงค์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านวิศวกรรมโยธา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2511 ในช่วงของการเรียนทั้งหมดตั้งแต่เริ่มต้น คุณประสงค์ ถือว่าเป็นการเรียน วิชาการบริสุทธิ์ หรือ Pure Engineer ซึ่งเป็นพื้นฐานของการประกอบวิชาชีพ

          "ตอนเรียนหนังสือรู้สึกเหมือนโดนทรมาน ทำไมอาจารย์ ให้ทำรายงานมากมายอย่างนี้ ภาษาอังกฤษก็แก้แล้วแก้อีก แกล้งกันหรือเปล่า พอจบได้ก็โล่งใจ เมื่อเข้าสู่ชีวิตการทำงานซึ่งมีความรุนแรงสลับซับซ้อนมากกว่า ก็พบว่าสิ่งที่เล่าเรียนในสถานศึกษานั้นเป็นการสอนพื้นฐานให้รู้จักการต่อสู้และความอดทนด้วย เพราะ แนวทางการประกอบอาชีพไม่มีใครเขาบอกตรงๆ เช่น เรื่องสำนึกของความปลอดภัย ซึ่งท่านอาจารย์หลวงชลานุสรณ์ ท่านถือคำตอบเป็นสิ่งสำคัญ กล่าวคือ ในสมัยก่อนมีการใช้ไม้บรรทัดคำนวณ หรือ Slide Ruler เป็นเครื่องมือในการวัด ดังนั้น การเลื่อนจุดจึงต้อง มีการใช้สามัญสำนึกประกอบอยู่ด้วย ซึ่งในเชิงของวิธีการที่ผมทำนั้นถูกต้องหมดทุกอย่าง แต่คำตอบซึ่งควรจะตอบ 100 แต่ผมตอบ 10 แล้วอาจารย์ให้ศูนย์ ไปทวงถามอาจารย์ว่าน่าจะให้คะแนนผมบ้าง อาจารย์บอกว่าตอบ 1,000 ก็อาจจะให้คะแนนได้ เพราะการคำนวณเสาต้นหนึ่งต้องใส่เหล็ก 100 เส้น ถ้าเราไปใส่ 10 เส้นนั้น พัง หรือไม่ แต่ถ้าใส่ 1,000 เส้น เป็นอย่างไร ไม่พังแต่แพง

          "ดังนั้น วิศวกรต้องหาความพอดีในเชิงวิชาการด้วยคำสามคำที่เรียนรู้มาตลอด แต่ก็ตกผลึกในแนวความคิดว่าวิศวกรต้องออกแบบไม่ให้พัง แล้วก็ไม่แพง และต้องให้พอดี ซึ่งถือเป็นหน้าที่ในการใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณภาพ ตอนนั้นอาจารย์บอกอ้อมๆ ซึ่งถือว่าลึกซึ้ง ทุกวันนี้ผมจะบอกคนอื่นเสมอว่าเรื่องความปลอดภัยไม่สามารถประนีประนอมได้"

เสริมคุณค่าปริญญาตรีด้วยประสบการณ์

          เมื่อจบปริญญาตรี ขณะที่คนอื่นๆ เลือกที่จะเรียนต่อปริญญาโท หรือเข้ารับราชการ แต่คุณประสงค์เลือกที่จะทำงานในภาคเอกชน

          "ผมเกรงว่าจะเป็นคนปริญญาโทเร็วเกินไปแล้วจะไม่ได้เป็นคนปริญญาตรีที่ทำงาน และต้องการรู้ว่าคนปริญญาตรีทำอะไรได้บ้าง เมื่อทำงานเจอปัญหาแล้วคิดอย่างไร ผมก็ไปได้งานควบคุมงานก่อสร้างคอกสุนัขในช่วงของสงครามเวียดกง ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการโครงการสร้างคอกสุนัขสงครามกับโรงรถ เมื่อทำความตกลงกับเจ้าของงานแล้วก็พบว่า การสร้างคอกสุนัขนั้นมีข้อจำกัดในเรื่องของทรัพยากร และเวลาในการก่อสร้าง แม้ว่าจะเพิ่มทรัพยากรอย่างไรก็ไม่ทัน หากเสร็จก็จะไม่เรียบร้อยเมื่อสุนัขเข้าไปอยู่อาจจะโดนเคลมได้ สุนัขเองก็อยู่ลำบาก วิธีที่ดีที่สุดคือ แบ่งทำทีละครึ่ง ทำส่วนแรกให้เสร็จก่อน แล้วค่อยทำครึ่งหลัง งานในครั้งนี้ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่สนุกสนานมาก แนวคิดการบริหารก็เกิดขึ้นในช่วงนี้"

          คุณประสงค์ใช้ชีวิตการทำงานประมาณหนึ่งปี หลังจากนั้นก็ได้ศึกษาต่อระดับปริญญาโทเพื่อเป็นการเสริมความรู้ ทางวิชาการให้แน่นขึ้น

          หลังจากจบปริญญาโทคุณประสงค์ได้รับหน้าที่เป็นผู้จัดการโครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ขององค์การสหประชาชาติ หรือ ESCAP ในปัจจุบัน ซึ่งจัดเป็นอาคารสูงแห่งแรกๆ ของไทยในขณะนั้น

          "ด้วยความที่ผมอายุยังน้อยประมาณ 25 ปี ทำให้ชาวต่างประเทศคนหนึ่งไม่ให้การยอมรับ ใช้ภาษาไม่สุภาพ ด้วยความเป็นหนุ่ม ผมก็เกิดอาการเลือดขึ้นหน้า แต่ก็พยายามสงบสติอารมณ์ นำประสบการณ์ครั้งที่เคยเป็นประธานในกิจกรรมต่างๆ สมัยเรียนมาใช้ ในที่ประชุมผมก็ปล่อยให้เขาพูดจนจบ แล้วก็บอกไปว่าผมเป็นประธานโดยการแต่งตั้ง แต่คุณไม่มีหนังสือแต่งตั้งมาอย่างเป็นทางการ ผมขอใช้อำนาจของประธานให้เลือกว่า จะนั่งอยู่ในที่ประชุมเฉยๆ ในฐานะผู้สังเกตการณ์ หรือออกไปจากห้องประชุม เขาก็พยายามตอบโต้ แต่ผมไม่อนุญาตจากนั้นก็ดำเนินการประชุมต่อไปโดยไม่ใสใจเขาอีกเลย"

บุกเบิกอาชีพ Construction Management Consultant

          งานที่ ESCAP คุณประสงค์ ยังได้แนวคิดว่าการสร้างอาคารที่รวมงานหลายส่วนเข้าด้วยกัน เช่น งานก่อสร้างโครงสร้าง งานสถาปัตยกรรม ระบบประปา และระบบไฟฟ้า ฯลฯ ต้องอาศัย การประสานงานที่ดี ซึ่งสามารถแยกออกมาเป็น อาชีพอิสระได้ ต่อมาคุณประสงค์ได้นำแนวคิดนี้ มาทำอาชีพ Construction Management Consultant จนถึงปัจจุบัน

  "ผมนำแนวคิดเชิงบริหารจัดการมาใช้ครั้ง ก่อสร้างสำนักงานใหญ่ธนาคารกรุงเทพ ช่วงนั้น เกิดสงครามเวียดนามซึ่งใกล้แตกแล้ว มีคนบอกว่าถ้าเวียดนามแตก ลาว กัมพูชา ไทย พม่า ก็จะ แตกกระทบกันเป็นโดมิโน คุณบุญชู โรจนเสถียร ซึ่งตอนนั้นท่านเป็นผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพก็บอกว่าไทยจะแตกไม่ได้ หากไทยจะแตกก็มีอยู่เพียงว่าคนรวยหนีหมด ท่านบอกต้องยันไว้คนรวยต้องสร้างตึก ช่วงนั้นตึกสูงในประเทศไทยก็มี ESCAP, โรงแรมดุสิตธานี แล้วก็มาธนาคารกรุงเทพ และจากจุดนี้ผมจึงได้เปลี่ยนอาชีพจากผู้รับเหมา มาเป็นวิศวกรที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานก่อสร้าง ซึ่งจัดเป็นกลุ่มคนไทยแรกๆ ที่ดำเนินธุรกิจแนวนี้"

          ปัจจุบัน คุณประสงค์ มีตำแหน่งเป็นประธานกรรมการ บริษัท โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส จำกัด (PPS)*** และ บริษัท พีพีเอสดีไซน์ จำกัด (PPSD) มีผลงานการบริหารและควบคุมงาน ก่อสร้างที่สำคัญหลายแห่ง เช่น ตึกใบหยก 1, 2, โรงแรมแกรนด์ไฮแอทเอราวัณ, ศูนย์คอมพิวเตอร์ ธนาคารกรุงเทพ, เกษรพลาซ่า และสำนักงานใหญ่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ฯลฯ

          กิจการดีขึ้นตามลำดับ แม้กระทั่งช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี พ.ศ. 2540 ที่หลายคนในวงการต้อง ถอดใจ แต่คุณประสงค์ก็ฟันฝ่ามาได้

          "เป็นเพราะเราจัดทำระบบคุณภาพ ISO 9000 ไว้ก่อนที่เศรษฐกิจจะล่ม เมื่อการทำงานเป็นระบบใครเข้าใครออกก็ต้องเดินไปตามระบบที่วางไว้ทำให้งานไม่รวน และยังทำให้มีงานเพิ่มขึ้นด้วย เราบริหารกันด้วยแนวคิดที่ว่าเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข

          "ช่วงนั้นบริษัทมีโอกาสเข้าไปควบคุมงาน ก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินสายเฉลิมรัชมงคล ก็ต้อง มาหารือกับทีมงาน ตกลงกันว่าจะไม่ปลดคนเหมือนที่อื่นๆ เราจะพยุงกันไว้แต่ลดชั่วโมงการทำงาน ลงเหลือ 7 ชั่วโมง ไม่มีทำงานล่วงเวลา และปรับอัตราเงินเดือนลดลงโดยทั่วกัน ตอนนั้นสภาพจิตใจก็ย่ำแย่ไปตามๆ กัน ครั้นสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเริ่มคลี่คลาย มีโครงการใหม่ๆ เกิดขึ้น บริษัทก็มีความพร้อมมากกว่าที่อื่น เพราะคนงานยังอยู่กับ เราล้วนแต่เป็นงานแล้วไม่ต้องไปฝึกกันใหม่ ขณะที่บริษัทอื่นๆ ต้องหาคนงานกันจ้าละหวั่น

          "ถัดมาไม่นานเราก็เริ่มไม่ไหวจริงๆ เพราะลูกค้าไม่ชำระเงินกว่า 20 ล้านบาท ก็ให้สมัครใจลาออก จากจำนวน 200 คน ขณะนี้เหลืออยู่ ประมาณ 180 คน และก็สามารถผ่านวิกฤตการณ์ครั้งนั้นมาได้"


*** (บริษัท โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส จำกัด มหาชน ในเวลาต่อมา )

การประชุมสามัญประจำปี PPS
ผลพวงมาจากบุญเก่า : สร้างระบบที่ธนาคารกรุงเทพ

          คุณประสงค์ บอกว่าหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจก็มีงานเข้ามามากพอสมควร ซึ่งถือได้ว่าเป็นผลพวงมาจากบุญเก่า กล่าวคือ ทางบริษัทได้เคยทำงานให้กับธนาคารกรุงเทพมาก่อน เมื่อทางธนาคารกรุงเทพมีความประสงค์จะปรับปรุงองค์กร ทางบริษัทจึงได้รับเลือกให้เข้าไปดำเนินการ

          ทั้งนี้ นอกจากความสัมพันธ์เก่าก่อนแล้ว อีกเหตุผลหนึ่ง ที่บริษัทได้รับการคัดเลือก เนื่องจากการปลูกฝังความคิดให้กับพนักงานว่า งานก่อสร้างต่างๆ ที่ใช้เวลาสร้าง 6 เดือนนั้น ไม่ได้ใช้งานเพียงแค่ 6 ปีเท่านั้น หากจะต้องมีการใช้งานนานนับ 10 ปี ดังนั้น จึงมีการย้ำเสมอว่าเมื่อสร้างเสร็จต้องคำนึงถึงการเป็นผู้ใช้ด้วย อย่าทำอย่างรีบร้อน และถ้าผลงานออกมาดี โอกาสที่ผู้ว่าจ้างจะเรียกใช้งานอีกก็มีมาก

          สำหรับงานที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ อาคารสำนักงานแห่งใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย, รถไฟฟ้าใต้ดินสายเฉลิมรัชมงคล และ Utilities Distribution and Airport Maintenance Facilities, Construction Supervision Services for Passenger Terminal Complex ของสนามบินสุวรรณภูมิ ฯลฯ

อักษรช่วยจำ

          ในการบริหารงานนั้น คุณประสงค์ ยึดหลักของ ABCDE กล่าวคือ A-Attitude ต้องมีทัศนคติที่ดีต่งาน ต่อเพื่อนร่วมงาน รวมถึงต้องคิดดี เมื่อคิดดีสิ่งที่ตามมาคือการทำดี นั่นคือ B-Behavior พฤติกรรมต้องดี ต่อมาคือ C-Communication กับ Coordination เนื่องจากว่าการทำงานต้องมีการประสานกันจึงต้องมีการประสานงานกันอย่างเข้าใจ ส่วน D-Development ต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และหลังจากนั้นจะต้องมีการประเมินการทำงาน E-Evaluate

          "ให้คิดอะไรง่ายๆ คือ ทำของยากให้เป็นของง่าย ถ้าเรามองว่ายากอะไรก็ยากไปหมด มองเห็นแต่ปัญหา แล้วถ้าเรามองว่าปัญหานั้นคือ เรื่องน่าเบื่อ ทำไมเราต้องเจอาด้วย ทำไมต้องเอาปัญหามาให้เรา เราก็จะเป็นทุกข์ แต่ถ้าเรามองว่า เราคือ นักแก้ปัญหา และงานคือ ปัญหา เมื่อมีปัญหาเข้ามาเราก็ควรดีใจที่เราได้มีงานทำ เหมือนเวลาที่เราตีกอล์ฟ ผู้ชนะมองเห็นธง ผู้แพ้มองเห็น แต่หลุมทรายกับต้นไม้"

          ทั้งนี้ ในการทำงาน คุณประสงค์ มีวิธีในการใช้อักษรช่วยจำเสมอ อย่างเช่น งานก่อสร้างประเทศในญี่ปุ่นซึ่งเป็น1 ใน 3 ของงานที่ไม่มีคนอยากทำ เขาถือว่าเป็นงาน 3K คือ Kitanai, Kiken และ Kitsui หากว่าเป็นภาษาอังกฤษก็จะใช้ 3D คือ Dirty , Dangerous และ Difficult ส่วนภาษาไทยคุณประสงค์ คิดว่าอาจจะใช้ 3ส คือ สกปรก, เสี่ยงอันตราย และ สาหัสสากรรจ์ ก็ได้

ต้องสร้างสำนึกแห่งคุณภาพ สำนึกแห่งความปลอดภัย

นอกจากจะต้องมีทัศนคติที่ดีแล้ว คุณประสงค์ บอกว่ายังต้องคิดอย่างเป็นระบบด้วย เช่นในระบบของ ISO 9000 (Quality System) ประกอบไปด้วย Quality Policy ทำอย่างไรจึงจะเป็นระบบที่ดี, Work Procedure หรือขั้นตอนการทำงาน ตามด้วย Work Instruction เป็นคู่มือการทำงาน และ Support Document หัวข้อดังกล่าวไม่ใช่แค่มีไว้เท่านั้น ยังต้องปฏิบัติตาม และต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วย

          "การลงไปดูงานในอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินซึ่งตามกติกาของ Work Procedure บอกว่าจะต้องผ่านการอบรม ต้องนับจำนวนคน ใส่เสื้อ ใส่หมวกนิรภัย เป็นมาตรการรักษาความปลอดภัย ครั้งหนึ่งอดีตนายกรัฐมนตรี คุณชวน หลีกภัย จะไปดูงานก็ต้องทำตามกติกานี้ เพราะหากว่าเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น จะสามารถแก้ไขได้ทันท่วงทีสามารถรู้ได้ว่าขึ้นมาจากอุโมงค์ครบหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ถือว่าต้องมีการปฏิบัติอย่างแข็งขัน

          "ในประเทศไทยมีกฎหมายกำหนดว่างานสามชนิดต้องมี Safety Procedure คือ งานที่เป็นสะพานช่วงยาวตั้งแต่ 30 เมตรขึ้นไป งานอาคารขนาดใหญ่และอาคารสูง และงานที่มีมูลค่าโครงการเกินกว่า 300 ล้านบาท สิ่งเหล่านี้หากว่าผู้รับเหมาไม่ทราบเลยว่ารัฐบาลให้ทำอะไร แล้วทำไมต้องทำสำนึกแห่งความปลอดภัยก็ไม่เกิด เพราะระบบความปลอดภัยซึ่งประกอบไปด้วยวงจรของ 3E คือ Engineering, Education และ Enforcement ขาดไปหนึ่งข้อนั่นก็คือ Education"

ส่งผ่านความคิดงานทางด้านบริหาร

          คุณประสงค์ บอกว่าสิ่งสำคัญในการทำงานของวิศวกร คือ การมีเป้าหมาย สามารถวัดได้พร้อมทั้งอยู่ในต้นทุนและเวลา โดยทั้งสามส่วนนี้ต้องอยู่ภายใต้กรอบของ Safety, Health และ Environment และจะต้องอยู่ภายใต้กรอบที่ใหญ่ขึ้นไปอีก คือ กรอบของกฎหมาย, กรอบความต้องการของลูกค้า และหลักปฏิบัติทางวิชาชีพ (Code of Practice)

          "งานทุกอย่างเริ่มมาจากปัจจัยการผลิต (In put) ประกอบไปด้วย Material, Man, Matchine และ Money ในกระบวนการผลิต (Process) ก็ต้องมี Method เพื่อนำไปสู่ Out put โดยมีการควบคุมในส่วนของ Inspection และ Supervision ด้วย กระบวนการเหล่านี้หากดำเนินการถูกต้อง คิดอย่างเป็นระบบ ก็จะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ผมได้เขียนกระบวนการนี้ไว้หน้าปกหนังสือประสบการณ์งานช่าง และลงยันต์กำกับเรียกว่ายันต์มหาเฮง"

ดึงคนไทยมีส่วนร่วมถ่ายโอนเทคโนโลยี

          สำหรับมุมมองของการถ่ายโอนเทคโนโลยีจากผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาตินั้น คุณประสงค์ บอกว่าควรจะนำผู้รู้ไปรองรับเทคโนโลยีนั้นๆ

          "เหมือนน้ำตกหรือน้ำที่ไหลจากที่สูง หากนำแก้วไปรองเราจะได้น้ำเพียงครึ่งแก้วเพราะกระฉอกไปหมด ถ้าใช้กะละมัง กระฉอกเหมือนกันแต่ความสามารถในการรองรับมีมากกว่า ลักษณะการถ่ายโอนในครั้งแรกอาจจะต้องจ่ายเงินเป็นจำนวน 100 บาท เพื่อที่จะให้ได้เทคโนโลยีนั้นมา และหลังจากนั้นจะต้องมีการจ่ายเงินในจำนวนที่ลดลง คือ 80, 50, 40 และ 20 จนที่สุดก็จะต้องไม่ต้องเสียเงินเลย

          "เงื่อนไขการจ้างจะต้องกำหนดให้มีการถ่ายโอนเทคโนโลยีด้วย เวลานำเสนองานอาจจะกำหนดให้ถ่ายทอดเป็นภาษาไทย หรืออาจจะให้คนไทย ซึ่งเป็น Co-Project Manager หรือ Assistant พูด ให้โอกาสนักวิชาการระดับสูงได้เข้าไปเรียนรู้บ้าง โดยเฉพาะอาจารย์เขาจะได้เกิดการเรียนรู้นำกลับไปสอนลูกศิษย์ลูกหาได้ แต่อย่าให้มากจนไม่มีเวลาสอนหนังสือ และไม่ใช่ว่าไปถ่ายโอนให้กับคนที่อายุ 60 ปี ซึ่งจะเกษียณแล้ว

          "เมื่องานเสร็จแล้วจะต้องมีคู่มือ วิธีการ ที่เป็น Hard Copy สามารถจับต้องได้ ไม่ใช่ว่างานเสร็จแล้วต้องจ้างเขาอีกทุกครั้ง หากเป็นเช่นนี้ก็ถือว่าไม่ได้มีการถ่ายโอน ทั้งนี้ จะต้องให้โอกาสเด็กรุ่นใหม่ได้รับการถ่ายโอนด้วย ผมเองมาทำงานที่ ว.ส.ท. ก็ต้องถ่ายโอนให้คนรุ่นใหม่เหมือนกัน ไม่อย่างนั้นเกิดการขาดช่วงซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัว โดยเฉพาะช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ คนตกใจ แล้วก็เลยไม่เป็นสมาชิก ไม่เข้าอบรม"

วิชาชีพมีกรอบกติกา

เกี่ยวกับ ว.ส.ท. นั้น คุณประสงค์ บอกว่าตนเองได้เข้าสมัครเป็นสมาชิกตั้งแต่จบใหม่ๆ โดยที่ยังไม่รู้เหตุผลความจำเป็นแต่อย่างใด

          "เป็นสมาชิก ว.ส.ท.ตอนนั้นยังไม่รู้เลยว่าเราจะได้อะไร ทั้งยังไม่มีแนวความคิดเรื่องสายวิชาชีพ ทั้งกรอบแนวทางการปฏิบัติ จรรยาบรรณ หลังจากเป็นสมาชิก ว.ส.ท. อยู่ระยะหนึ่งตอนนั้นผมอายุ ประมาณ 30 ปี ศ.อรุณ ชัยเสรี เชิญให้เป็นประธานสาขาวิศวกรรมโยธา ซึ่งการทำหน้าที่ในส่วนนี้ทำให้เข้าใจถึงคำว่าวิชาชีพที่ว่า วิชาชีพ คือ วิชา บวก อาชีพ

          "คำว่า อาชีพ นั้น ทำอะไรก็ได้ที่ได้สตางค์ ซึ่งจะถูกกติกาหรือไม่ถูกกติกาก็ได้ แต่สำหรับวิชาชีพ ไม่ได้เป็นเช่นนั้น หากแต่ต้องอยู่ในกฎในกรอบของกติกามารยาท โดยที่คำว่า กฎจรรยาบรรณ มาตรฐาน คำเหล่านี้เลี่ยงไม่ได้เลยสำหรับนักวิชาชีพ โดยที่ ว.ส.ท. ก็ได้ช่วยร่างมาตรฐานการประกอบวิชาชีพ นำไปสอนให้กับบัณฑิตที่จบมาทางด้านวิชาการบริสุทธิ์ เพื่อนำมาสู่การปฏิบัติวิชาชีพอย่างถูกต้อง

          "เรื่องการปฏิบัติวิชาชีพอย่างถูกต้องนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ เปรียบเสมือนเป็นการวิ่งผลัด กล่าวคือ เมื่อเด็กจบจากการเรียนวิชาการบริสุทธิ์มาจากสถาบันการศึกษาก็เป็นการส่งไม้ให้ทางสมาคมวิชาชีพรับช่วงต่อ หากเด็กรับไม่ได้ไม้ก็หล่น ส่งผลต่อการปฏิบัติวิชาชีพกันอย่างไม่ได้มาตรฐาน

          "กับคำถามที่ว่าเป็นสมาชิกสมาคมวิชาชีพแล้วได้อะไร ผมบอกได้เลยว่าคุณจะได้ประสบการณ์ที่เงินหาซื้อไม่ได้ ได้พบปะบุคคลในวงการพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ รู้อะไรหลายอย่างที่ไม่มีในห้องเรียน กว้างออกไปจากจุดที่เรายืนอยู่ซึ่งเป็นงานหน้าเดียว"

สมาคมวิชาชีพ : กิจกรรมเพื่อสังคม พัฒนาประสบการณ์วิชาชีพ

          ปัจจุบัน มีสถาบันผลิตวิศวกรประมาณ 60 แห่ง บัณฑิตเหล่านี้ต้องการคำชี้แนะ ต้องการกำลังใจในการเดินเข้าสู่สายวิชาชีพ

          "สมัยก่อน ว.ส.ท.จะให้คนที่มีอายุมากสักหน่อยไปพูดเชิญชวนนิสิตปี 4 เข้าเป็นสมาชิก อายุห่างกันกว่า 20 ปี เหมือนรุ่นลูก รุ่นหลาน เด็กก็มองได้ว่าอยู่บ้านก็โดนพ่อแม่ด่า มาเรียนก็ถูกครูด่า แล้ววันนี้พอจะจบนกน้อยกำลังจะบินออกจากกรงก็มีใครอีกก็ไม่รู้มาบอกให้ทำโน้นทำนี่ ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ว.ส.ท.จึงได้จัดให้มีกลุ่มยุววิศวกร ซึ่งเป็นกลุ่มสมาชิกที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปี เข้ามามีบทบาทในการทำกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการเชิญชวนนิสิตให้เข้าเป็นสมาชิกด้วย

          สมาคมวิชาชีพเหมือนเป็นวัด อาศัยความสมัครใจในการเข้ามา ซึ่งเราพยายามจะสื่อให้เขารู้ว่ามีองค์กรทางการศึกษา องค์กรทางวิชาชีพ องค์กรควบคุมการปฏิบัติวิชาชีพ และสมาคมนิสิตเก่าต่างๆ เคียงข้างในการเดินสู่ถนนสายวิชาชีพ ในส่วนของ ว.ส.ท. นอกจากสมาชิกจะได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้ซึ่งกันและกัน เข้าร่วมอบรมสัมมนา ซื้อหนังสือ ตลอดจนร่วมกิจกรรมต่างๆ ในราคาพิเศษ เรายังปลูกผังแนวคิดที่ถูกต้องในการประกอบวิชาชีพ ให้องอาจ และถูกต้อง

          "เช่นว่าเวลานี้คุณเป็นลูกจ้างซึ่งง่ายที่สุดแล้วแต่คุณยังเป็น ไม่ได้ ก็อย่าคิดว่าจะไปเป็นเถ้าแก่ที่ดีได้ เราต้องมีแนวคิดตรงนี้ก่อนว่าเป็นอะไรก็ต้องทำให้ดีที่สุด แล้วก็เดินทางไปสู่จุดหมาย เมื่อถึง จุดสุดยอดเราจะยืนอยู่อย่างมั่นคงไม่ตกลงมาเพราะหลักแน่น แต่ หากหลักไม่ดี อาจจะโดนพายุพัดตกได้

          "กับการที่เราไม่ได้เป็นสมาชิกแต่ซื้อหนังสือโดยใช้สิทธิสมาชิกของเพื่อน ผมว่าอย่ามีแนวคิดอย่างนี้ไม่ถูกเป็นการเอาเปรียบสังคมแบบเด็กๆ เพราะถ้าคุณคิดจะเป็นวิศวกรที่ดีแต่เอาเปรียบสังคมทีละ 20 บาท ผมว่าไม่มีทางที่จะเป็นวิศวกรที่ดีได้"

          ทั้งนี้ คุณประสงค์ บอกว่า เด็กที่จบปริญญาตรีมาใหม่ๆ นั้น มักจะทำอะไรไม่เป็น เนื่องจากยังไม่มีประสบการณ์ในการทำงาน เหมือนการสร้างตึกคือ มีรากฐานของชีวิตแล้ว แต่รากฐานในเชิงวิชาชีพยังไม่มี

          "มาทำบริษัทของตัวเอง เห็นเด็กจบใหม่ทำงานไม่เป็นผม เข้าใจนะ เพราะเขายังไม่ทำงานจึงไม่เกิดทักษะ เราเองก็เคยผ่านสถานการณ์อย่างนี้ ฉะนั้น ต้องสอนเขา คอยให้คำชี้แนะ ชักชวนให้สังกัดสมาคมวิชาชีพ"



หยั่งรากถึงระดับการเรียนรู้ที่แท้จริง

ในช่วงนี้กิจกรรมอย่างหนึ่งที่ทำอยู่คือ การเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชา Project Management ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และมหาวิทยาลัยอื่นๆ ตามคำเชิญ

          "ผมจะถามนักศึกษาเสมอว่า เข้ามาเรียนวิชานี้เพื่ออะไร ถ้าตอบไม่ได้ก็จะให้กลับไปคิดใหม่ และถ้ายังหาคำตอบไม่ได้ไม่มี วัตถุประสงค์ในการเรียน ผมแนะนำให้ถอนตัวไปดีกว่า เพราะเสียเวลาทั้งนักศึกษา และตัวผมเองด้วย เพราะว่าผมไม่ใช่อาจารย์แต่ก็ตั้งใจมาสอน ดังนั้น ก็ต้องตกลงกันก่อนว่าจะตั้งใจเรียนให้ได้ความรู้ ใช้หรือไม่ใช้ก็อีกเรื่องหนึ่ง เพราะนี่ก็เหมือนการตอกเข็ม ในระดับปริญญาตรีเปรียบเสมือนเป็นการตอกเสาเข็ม 100 ต้น พอมาถึงระดับปริญญาโทอาจตอกเพิ่มอีก 50 ต้น และระดับปริญญาเอกตอกเสาเข็มอีก 100-200 ต้น ส่วนจะต่อยอดเป็นอะไรก็เป็น เรื่องของปัจเจกบุคคลที่จะต้องค้นหาทางเดินไปสู่เป้าหมายซึ่งมีอยู่หลากหลายวิธีต่อไป"

          คุณประสงค์ ได้สร้างความเข้าใจกับนักศึกษาในการเรียนรู้สามระดับด้วยกัน ระดับแรกเป็นการ เรียนเพื่อรู้อย่างเข้าใจ เหมือนกับการเรียนเพื่อตอกเข็มเป็นฐานไว้ เมื่อเป็นฐานแล้วก็จะสามารถต่อยอดเป็นตึกสูงได้ ต่อมาคือ รู้แล้วจะต้องเกิดทักษะ และ รู้แล้วต้องมีการคิดพัฒนาต่อได้ ซึ่งเป็นระดับสุดยอดที่สังคมต้องการ โดยทั้งสามระดับนั้นไม่ได้กล่าวถึงการเรียนเพื่อให้ได้รับปริญญาเลย

เล่าสู่กันฟัง : ประสบการณ์งานเขียนหนังสือ

          สำหรับงานทางด้านการเขียน เป็นผลมาจากการที่ได้ไปบรรยายตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งพบว่าการบรรยายในแต่ละครั้งจะมีผู้ที่เข้ารับฟังประมาณ 40-50 คน หากว่าจะตั้งเป้าหมายในการ บรรยายสัก 4,000 คนก็คงต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควร จึงเกิดแนวคิดในการเขียนหนังสือ ครั้งหนึ่งหากพิมพ์สัก 5,000 เล่ม แล้วมีผู้ที่ซื้อไปและมีการแนะนำเพื่อนถึงแนวความคิดจากหนังสือก็จะมีการแผ่ขยายออกไปเป็นวงจรได้อีก

          "เวลาที่เขียนหนังสือผมพยายามจะแทรกความรู้สึก แทรกฉากลงในเนื้อหาสาระด้วย เช่น ขณะที่เขียนอยู่ ค่าแรงขั้นต่ำเท่าไหร่ ค่าน้ำมันเท่าไหร่ ให้เหมือนกับเป็นจดหมายเหตุ ซึ่งผมจะมีสมุดเล่มหนึ่งเรียกว่า ทดความคิด คือ ความคิดบางครั้งเราอาจจะทดไว้นิดๆ หน่อยๆ แล้วก็นำมา ทบทวนขยายความได้"

          สำหรับเทคนิคของการเขียน คุณประสงค์ บอกว่า อย่าไปกลัวผิด และ ไม่จำเป็นต้องเริ่มที่ บทที่ 1 กล่าวคือ ต้องการที่จะเริ่มในส่วนไหนก็เริ่มในส่วนนั้นแล้วดำเนินการต่อไปจนสำเร็จ

          "หนังสือที่ผมเขียนไม่ใช่ตำราแต่เป็นประสบการณ์ ใครเห็นว่าดีก็นำไปพัฒนาต่อได้ แล้วก็นำมาเล่าสู่กันฟังเพื่อที่ผมจะได้กลับมาเขียนต่อ ประสบการณ์ที่ผิดก็เป็นบทเรียนสำหรับคนอื่นจะได้ไม่ทำผิดตามเรา"

          สำหรับผลงานด้านวิชาการ คุณประสงค์ เป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง "รายละเอียดเหล็กเสริมงานคอนกรีต" และ "รายการตรวจสอบงานก่อสร้าง" รวมถึงหนังสือเรื่อง "ประสบการณ์งานช่าง" เป็นเกร็ดความรู้ในด้านการบริหารและการควบคุมงานก่อสร้าง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในวงการก่อสร้าง

          คุณประสงค์ บอกว่าไม่เคยคิดเขียนหนังสือก็ได้มาเขียน ไม่เคยคิดเป็นอาจารย์ก็ได้มาเป็น หรือแม้กระทั่งวิศวกรไม่เคยคิดก็ได้มาเป็น ครั้งหนึ่ง คุณประสงค์ คิดจะเป็นหมอ แต่ต้องใช้เวลาศึกษาถึง 6 ปีจึงเบนเข็มมาเรียนวิศวกรรม ตอนนั้นก็เกือบจะไม่ได้เรียนอีกเพราะทางบ้านไม่มีเงินส่งก็พยายามสอบชิงทุน ปรากฏว่าได้รับการอุปถัมภ์จากมูลนิธิช่วยนักเรียนที่ขาดแคลนในพระบรมราชินูปถัมภ์ เมื่อมาเป็นวิศวกรก็ทำให้ ดีที่สุด และพยายามตอบแทนกลับคืนไปให้กับมูลนิธิฯ ด้วยตระหนักดีว่าเติบโตมาได้เพราะที่นี้ ปัจจุบัน คุณประสงค์ยังเป็นกรรมการบริหารของมูลนิธิฯ ด้วย

          เป็นอะไรทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด เมื่อเดินทางไปสู่จุดหมาย เราจะยืนอยู่ได้อย่างมั่นคง ...แนวคิดที่คุณประสงค์ให้ และได้เลือกใช้กับชีวิตตนเอง


บทความจาก  จาก Engineering Today ฉบับที่ 1 ( 3 มีนาคม 2546)

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น