หน้าเว็บ

เกร็ดความรู้ เรื่อง "สีทาบ้าน"




          สีทาบ้านเป็นสิ่งสำคัญสิ่งนึงที่จะทำให้บ้าน อาคาร หรือที่อยู่อาศัยต่างๆ สวยงามและน่าอยู่ขึ้น นอกจากช่วยทำให้สวยงามแล้ว ยังช่วยบอกอารมณ์บุคคลิกของ อาคารสิ่งปลูกสร้างได้ อาคารสิ่งปลูกสร้างจะเปลี่ยนอารมณ์ไปทันที เมื่อเราเปลี่ยนสีของมัน  นอกจากที่สีจะช่วยเปลี่ยนณ์แล้ว เทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้สีสามารถช่วยลดความร้อนที่เข้ามาภายในอาคารได้ ซึ่งเมื่อลดความร้อน หรือไม่เก็บความร้อนไว้แล้ว  อุณหภูมิของอาคารก็ลดลง ทำให้ประหยัดพลังงานในการทำความเย็นได้อีก

         


           ปัญหาที่พบบ่อยสำหรับ เรื่องสี คือนอกจากจะเรื่อง ว่าสีอะไรสวยแล้ว  การเลือกใช้ประเภทของสีให้ถูกกับการใช้งานก็เป็นปัญหาเช่นกัน  ครั้นพอเลือกประเภทของสีได้แล้ว ขั้นตอนในการทาสีก็เป็นสิ่งที่เป็นปัญหาอีก  เพราะหลายครั้งที่เลือกชนิดสีได้ถูกแล้ว  สีก็ยังซีดจาง หลุดร่อน หรือเป็นฝุ่น เร็วกว่าอายุการใช้งานของมันที่ควรจะเป็น  

           บทความเรื่องความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสี เพื่อให้ท่านผู้อ่านสามารถเข้าใจการใช้สีเบื้องต้นได้ เริ่มด้วย ประเภทของสี  สีทาบ้านนั้นก็มีอยู่หลายประเภทให้เราเลือกใช้กัน ไม่ว่าจะเป็น สีย้อมไม้, สีน้ำมัน, สีเคลือบไม้, สีกันสนิม แต่ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดก็คงจะเป็นสีน้ำพลาสติก หรืออะคริลิค เพราะสามารถใช้ทาได้ทั้งภายใน และภายนอกบ้าน ข้อดีของสีน้ำก็คือ ผสมน้ำแล้วก็ใช้ได้เลย การเปิดกระป๋องสีมาแล้วผสมน้ำ กับสี จะทำให้สีสามารถทาได้ง่ายขึ้น  และสีที่มีส่วนผสมของน้ำนั้น ก็จะไม่ค่อยมีกลิ่น เหมือนสีที่มีส่วนผสมของทินเนอร์ ทำให้ไม่เวียนหัวเวลาทำงาน และสีน้ำพลาสติกนั้น เวลาทาผิด ก็ใช้น้ำลูบเช็ดสีออกได้เหมือนกัน   สำหรับสีทาภายนอกในส่วนบริเวณที่ใกล้ๆ กับสนาม หรือบริเวณที่น้ำเข้ามาในเนื้อคอนกรีตได้  ก็ควรเลือกสีประเภทที่สามารถมีช่องว่างให้น้ำผ่านออกไปได้ สีจะได้ไม่แตก  สำหรับสีทาภายนอกนั้นราคาจะค่อนข้างสูงกว่าสีทาภายในเนื่องจากสีทาภายนอกจะทนทานกว่าสภาพแวดล้อมได้ดีกว่าทั้งกันแดด กันฝน และบางชนิดสามารถลดความร้อนที่เข้าภายในอาคารได้ด้วย   นอกจากประเภทของสีทาภายนอกหลักๆ ที่กล่าวมาเบื้องต้นนี้ ก็ยังมีรายละเอียดอื่นๆ อีก ที่อยู่นอกขอบเขตของบทความนี้  

         สำหรับสีทาภายใน  ก็ควรเลือกสีที่มีคุณสมบัติในการเช็ดทำความสะอาดง่าย  เพราะเมื่อทาสีภายในบ้านเราก็อยากเห็นสีบ้านของเราสะอาดตลอดเวลา เผื่อโดนลูกๆ มาขีดเขียน หรืออาหารตกใส่  เราจะได้สามารถเช็ดทำความสะอาดผนังบ้านได้ง่าย
 
สีหลุดล่อน

         ต่อมาสิ่งที่สำคัญไม่แพ้การเลือกสี และชนิดของสี ก็คือการเตรียมพื้นผิวสำหรับการทาสีเพราะส่วนใหญ่ปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อทาสีแล้วมีปัญหาเกิดมาจาก การเตรียมพื้นผิวที่ไม่ดี เหตุที่เราไม่นิยมทาสีกันในหน้าฝน ก็เพราะ สีจะแห้งช้า  และนอกจากนั้น เราควรหลีกเลี่ยง การทาสีในช่วงฝนตกหรือช่วงที่ผนังมีความชื้น เนื่องจากถ้าผนังยังมีความชื้นอยู่ก็จะทำให้สีไม่สามารถแห้งตัวได้ด้วยอัตราการแห้งปกติ ทำให้คุณภาพการยึดเกาะของสีกับพื้นผิวต่ำลง
วิธีที่ทดสอบง่ายๆ ว่าผนังที่เราจะทาสีนั้นมีความชื้นหรือไม่ สามารถทำได้โดยนำแผ่นพลาสติก ขนาด 30*30 เซนติเมตร มาติดโดยรอบด้วยกระดาษกาวหรือสก็อตเทปบนผนังที่เราจะทาสี ทิ้งไว้ประมาณ 6-8 ชั่วโมง แล้วดูว่ามีฝ้าเกาะมั้ย ถ้ามีฝ้าเกาะอย่าเพิ่งทาสี เพราะผนังยังมีความชื้นอยู่ แต่ในทางกลับกันถ้าอากาศร้อนหรือแห้งเกินไปก็ไม่ดีเพราะในอัตราการแห้งตัวของสีปกติเค้าจะคำนวณไว้ให้แห้งที่อุณหภูมิระดับหนึ่ง เมื่อสีโดนอากาศร้อน หรือมีความร้อนสะสมอยู่ในผนังมากๆ สีแห้งเร็วเกินไปทำให้เนื้อสีข้างในแห้งไม่สมบูรณ์ 


ในการทาสีให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ควรที่จะปฏิบัติขั้นตอนต่างๆ ให้ครบดังนี้
 

ขั้นตอนแรก เป็นการเตรียมผิว โดยทำความสะอาดคราบฝุ่นบนพื้นผิว ถ้าเป็นผนังปูนเก่าและมีสีเดิมหลุดล่อนอยู่ต้องขูด ขัด ล้างสีเก่าออกให้หมด หรือหากผนังมีรอยแตก ผนังไม่เรียบให้ทำการโป๊วปิดรอยต่อให้เรียบร้อยเสียก่อน

ขั้นตอนที่สอง เป็นการทาสีรองพื้น โดยสีทารองพื้นจะแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ


      1. รองพื้นปูนใหม่ จะช่วยปรับสภาพผิวคอนกรีต ช่วยยึดเกาะระหว่างเนื้อสีจริงกับพื้นผิวคอนกรีต และปรับสภาพความเป็นกรดด่างของผิวคอนกรีตใหม่ให้เหมาะสมกับการยึดเกาะของสี 


การขูดสีลอกล่อน
 
การทาสีรองพื้นปูนเก่า
       2.  รองพื้นปูนเก่า  บ้านทั่วไปเมื่ออยู่ไปหลายๆ ปีแล้วต้องการเปลี่ยนสีทาบ้าน ควรใช้สีรองพื้นประเภทนี้ เพื่อจะรองรับสำหรับการทาสีทับหน้าใหม่ ในอดีตส่วนมากสีรองพื้นจะเป็นสูตรน้ำมัน เนื่องจากสูตรน้ำมันจะทำให้ฝุ่นชอล์ค หรือฝุ่นสกปรกผนึกรวมไปอยู่ในฟิล์มสีได้      รองพื้นปูนเก่าจะแทรกซึมเข้าไปอยู่ในเนื้อฟิล์มสีเดิม ทำให้สีที่ทาทับหน้าไปนั้นมีคุณภาพและคงทน

ขั้นตอนสุดท้าย คือการทาสีทับหน้า ควรทาทับหน้าประมาณ 2 ครั้ง โดยเมื่อทาครั้งแรกเสร็จให้ทิ้งระยะให้สีที่ทาครั้งแรกแห้งสนิทเสียก่อนค่อยทาทับครั้งต่อไป จำนวนชั้นที่ทาสีนั้นทาที่ว่าสองครั้งนั้น จริงๆแล้วขึ้นกับสีที่ทาด้วยว่าเป็นสีอะไร  หากเป็นสีที่เป็นสีอ่อนๆ การทาสีสองครั้งก็เพียงพอ  แต่หากเป็นสีที่เป็นสีจัดๆ ทาให้เห็นสีชัดๆ ก็อาจจะต้องทามากกว่านั้น  

          สำหรับความรู้เบื้องต้นของสีของมีดังที่กล่าวมาแล้ว ส่วนหากเป็นเรื่องของสีหลุดร่อน จนเห็นคราบน้ำหรือตะไคร่ขึ้นในบริเวณดังกล่าวละก็ ควรกำจัดต้นเหตุของความชื้นที่ทำให้สีหลุดร่อนเสียก่อน ไม่เช่นนั้น ทาสีดีอย่างไรก็แก้ไม่หาย

พงศ์ธร ธาราไชย
โปรเจคแพลนนิ่งเซอร์วิสจำกัดมหาชน  PPSGROUP
โครงการวิศวกรสีขาว  เพื่อสังคมของวิศวกรที่ดี

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น