กรุงเทพฯ 1,568 ตารางกิโลเมตร ใช้ชีวิต 24 ชั่วโมงเผชิญกับอะไรบ้าง?
วันนี้ชวนคุยเรื่องบ้านเรื่องเมืองกันนะคะ มีข้อมูลสะดุดตาของสถาบันอนาคตไทยศึกษา เจาะลึกเมืองหลวงประเทศไทย 10 ประเด็น เขาบอกว่าเป็น 10 ข้อเท็จจริงชีวิตคนกรุงเทพฯ อ่านจบแล้วอยากจะพูดใหม่ว่าเป็น 10 ฝันร้ายชีวิตคนกรุงซะมากกว่า
เริ่มจากข้อแรก “มี 37 หน่วยงานทำหน้าที่เกี่ยวกับการจราจร” อาทิ กระทรวงคมนาคมกำหนดเส้นทางเดินรถเมล์ รถไฟฟ้า กทม. (กรุงเทพมหานคร) สร้างและซ่อมสัญญาณไฟ ส่วนผู้ควบคุมสัญญาณไฟเป็นตำรวจจราจร ผลลัพธ์เชิงสถิติ ความเร็วเฉลี่ยรถยนต์ที่วิ่งบนถนนในกรุงเทพฯ อยู่ที่ 16 กม./ชม. และ 36% ของเวลาที่ใช้เดินทางไปทำงานต้องหยุดนิ่งกับที่
นี่คือเหตุผลที่คนกรุงต้องตื่นตี 5 เพื่อรับมือกับปัญหาจราจร หลายคนเลือกที่จะหนีไปใช้การสัญจรทางน้ำ ทำให้มีผู้โดยสารเรือด่วนเจ้าพระยา-เรือแสนแสบมากถึง 29 ล้านคน/ปี
ข้อ 2 “รัฐลงทุนสูงกับระบบขนส่งมวลชนแต่...คนใช้ไม่มาก” คลาสสิกเคสหนีไม่พ้นรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ลงทุนไป 3.3 หมื่นล้านบาท ตอนวางแผนกะจะให้มีคนใช้บริการปีละ 35 ล้านคน แต่ทำได้จริง 17 ล้านคน อีกโครงการคือรถเมล์ BRT ลงทุน 2.8 พันล้านบาท วางแผนมีคนใช้ 13 ล้านคน สถิติจริง 6 ล้านคน/ปี
ทั้งๆ ที่รถเมล์ BRT อุตส่าห์ลดค่าโดยสารจาก 10 บาทเหลือ 5 บาท แต่คนกรุงก็ยังเมิน เหตุผลเพราะชื่อโครงการเป็นรถเมล์ด่วน แต่วิ่งจริงไม่ได้ด่วนสักเท่าไหร่ กลายเป็นว่าเรือด่วนที่มีผู้ใช้บริการปีละ 29 ล้านคน ลงทุนเพียง 70 ล้านบาท
ข้อ 3 “กรุงเทพมหานครมีเจ้าหน้าที่เทศกิจมากถึง 3,200 คน” เมื่อหารเฉลี่ยจำนวนพื้นที่เท่ากับเจ้าหน้าที่ 2 คนต่อ 1 ตารางกิโลเมตร มีภารกิจหลักจัดระเบียบทางเท้า ในขณะที่ทางเท้าถูกยึดครองด้วยโต๊ะเก้าอี้แผงลอย ตู้โทรศัพท์สาธารณะ รวมทั้งมอเตอร์ไซค์ขึ้นมาวิ่งอีกต่างหาก เรามีจำนวนเจ้าหน้าที่มากเพียงพอ (อาจจะล้นงานด้วยซ้ำ) แต่ข้อเท็จจริงคนเดินทางเท้าในกรุงเทพฯ ถูกลิดรอนสิทธิเยอะแยะไปหมด
ข้อ 4 “กทม. ใช้งบประชาสัมพันธ์ปีละ 377 ล้านบาท” รู้หรือไม่ กรุงเทพฯ ได้ชื่อว่าเป็นเมืองบ้าป้าย สถิติมีถึง 1 แสนป้าย เฉพาะบิลบอร์ดหรือป้ายโฆษณาขนาดใหญ่มีมากกว่า 1,000 ป้าย สวนทางกับการเก็บภาษีป้ายได้แค่ปีละ 778 ล้านบาท (เท่านั้น)
คำถามลอยๆ มีอยู่ว่า ถ้าตัดงบพีอาร์ 377 ล้านบาทก้อนนี้ เราจะสามารถ 1.นำมาทดแทนค่าภาษีป้ายจะทำให้ลดปริมาณป้ายที่มีดาษดื่นลงได้ครึ่งหนึ่ง 2.สร้างจุดบริการด่วนมหานคร (Bangkok Express Service) ได้ 100 จุด 3.จ้างพนักงานกวาดถนนได้เพิ่ม 3,500 อัตรา
ข้อ 5 “ค่าครองชีพแพง คนจนต้องออกไปอยู่ชานเมืองมากขึ้น” สถิติค่าจ้างแรงงานในกรุงเทพฯ ช่วงปี 2551-2558 เพิ่มเฉลี่ยปีละ 4% แต่ราคาที่ดินเพิ่มเฉลี่ย 8% ค่าใช้จ่ายหมวดรถไฟฟ้าแพงกว่าเมืองหลวงประเทศอื่นๆ อาทิ แพงกว่ากรุงโตเกียว 1.4 เท่า ฮ่องกง 1.7 เท่า และแพงกว่าเซี่ยงไฮ้ 4 เท่า
ค่าครองชีพแพง |
ข้อ 6 “พื้นที่สีเขียวที่ใช้ได้จริงต่ำกว่ามาตรฐาน 5 ตารางเมตรต่อประชากร 1 คน” กทม.แจ้งว่าพื้นที่สีเขียวใน 50 เขตรวมกันราว 34 ล้านตารางเมตร หรือเฉลี่ย 5 ตารางเมตร/คน แต่เป็นพื้นที่เกาะกลาง ต้นไม้ริมถนน กำแพงต้นไม้ 22% เป็นพื้นที่ส่วนบุคคล เช่น สวนหย่อมบริษัทเอกชน-หมู่บ้านจัดสรร 21% เหลือเพียงพื้นที่สีเขียวที่คนกรุงเข้าไปใช้บริการได้จริง 19 ล้านตารางเมตร เฉลี่ย 2 ตารางเมตรต่อคน
ข้อ 7 “กทม.มีข้าราชการและลูกจ้างมากกว่า 97,000 คน” งบประมาณแต่ละปีตก 8 หมื่นล้านบาท จำนวนคนทำงานก็มีไม่น้อยแต่คุณภาพชีวิตคนกรุงยังต่ำเกณฑ์ เช่น เป็นเมืองหลวงที่อากาศสกปรกอันดับ 5 ของเอเชีย เอกซเรย์ดูแล้วมีประมาณ 3 หมื่นคนที่เห็นภาพว่าทำหน้าที่บริการอะไรบ้าง ได้แก่ ครู 14,331 คน พนักงานเก็บขยะ 10,221 คน เทศกิจ 3,200 คน คุณหมอ-พยาบาล 2,608 คน
ข้อ 8 “65% เด็กนักเรียนสังกัด กทม. ตกวิชาเลขที่จัดสอบโดย PISA” ซึ่ง PISA เป็นการจัดสอบวัดผลระดับนานาชาติ สถิติปี 2555 ผลคะแนนวิชาคณิตศาสตร์พบว่า
นักเรียนสังกัด กทม.ได้คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ เปรียบเทียบกับนักเรียนสังกัดโรงเรียนเทศบาล-อบจ.-อบต. ที่สอบตก 57% ค่าเฉลี่ยทั่วประเทศสอบตกเฉลี่ย 50% โดยโรงเรียนสาธิตตกเพียง 9%
ข้อ 9 “กทม.จ่ายโบนัสปีละ 2.3 พันล้าน ทุกหน่วยงานได้ผลงานระดับดีมาก” อาจจะค้านสายตาไปบ้างเมื่อเทียบกับสถิติเด็กตกเลข โดยพบว่าทุกหน่วยงานมีผลประเมินการปฏิบัติราชการระดับดีมาก มีโบนัส 1.5 เดือน
ข้อเท็จจริง 10 “ค่าก่อสร้างศาลาว่าการ กทม.2 แพงกว่าเอกชนสร้างคอนโดหรู” เหตุที่แพงเพราะใช้เวลาก่อสร้างนานเลย 20 ปี ใช้งบ 9,975 ล้านบาท สร้าง 3 อาคาร พื้นที่ใช้สอยรวม 97,000 ตารางเมตร เฉลี่ยตารางเมตรละ 103,717 บาท สูงกว่าโครงการมหานคร คอนโด ทำเลอยู่หัวมุมถนนสาทร ที่มีค่าก่อสร้าง 86,855 บาท/ตารางเมตร
อ่านเอาเพลินนะคะ เห็นว่าเป็นช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ถือเป็นเทศกาลที่งานวิจัยจัดอันดับท็อป 10 ท็อป 5 เรื่องโน้นเรื่องนี้ออกมาเยอะ ก็เลยหยิบนำมาเล่าสู่กันฟังค่ะ
CR. หนังสือพิมพ์มติชน
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น