ปัญหาหลังคาบ้านรั่วซึมอันเป็นที่น่าปวดหัวนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ และในตอนที่ผ่านมา เจ้าของบ้านคงพอเข้าใจถึงจุดเสี่ยงการเกิดปัญหารั่วซึมจากบริเวณรอยต่อหลังคาบ้าน แล้ว สำหรับตอนนี้จะขอเล่าถึงจุดเสี่ยงการเกิดรอยรั่วบนผืนหลังคา ซึ่งเกิดได้จาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ปัจจัยจากโครงสร้างหลังคา และ ปัจจัยจากกระเบื้องหลังคา
1. ปัจจัยจากโครงสร้างหลังคา
หากโครงสร้างหลังคาไม่แข็งแรงพอ จะเกิดการแอ่นหรือขยับตัวจนทำให้กระเบื้องหลังคาเผยอ เกิดปัญหาหลังคารั่ว ทั้งยังอาจเป็นอันตรายถึงขั้นหลังคาถล่มได้ ดังนั้น โครงสร้างหลังคา จึงควรได้รับการออกแบบและคำนวณที่ถูกต้องโดยผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์และบริการติดตั้งที่ได้มาตรฐาน
สำหรับโครงหลังคาเหล็กควรใช้เหล็กที่มีคุณภาพ ไม่เป็นสนิม มีการเชื่อมรอยต่อที่แข็งแรงแน่นหนา โดยเฉพาะแปกับจันทันนั้น หากในเบื้องต้นมีการ “เชื่อมแต้ม” ไว้เป็นจุดเล็กๆ ชั่วคราว (เผื่อขยับเขยื้อนให้เข้าที่) เมื่อกำหนดตำแหน่งเรียบร้อยแล้ว จะต้องกลับมาทำการ “เชื่อมเต็ม” (เชื่อมให้เต็มหน้าตัด) ซ้ำให้เรียบร้อยทุกจุด
นอกจากความแข็งแรงของโครงหลังคาแล้ว การวางแปจะต้องมีระยะที่ถูกต้อง มิฉะนั้นกระเบื้องหลังคาอาจซ้อนทับกันไม่พอดีจนน้ำลอดเข้าใต้กระเบื้องได้ อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยคือ ความชันหลังคา โดยกระเบื้องหลังคาแต่ละรุ่นจะมีระดับองศาขั้นต่ำในการมุงกำหนดไว้ (กระเบื้องแบบลอน มักมุงได้ในองศาที่ต่ำกว่ากระเบื้องแบบเรียบ) หากโครงหลังคามีองศาต่ำกว่าระดับที่กำหนดอาจทำให้น้ำไหลเข้าใต้กระเบื้องได้ ดังนั้นการเลือกรูปทรงหลังคาควรคำนึงถึงจุดนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บ้านสไตล์โมเดิร์น ที่นิยมใช้หลังคาองศาต่ำและกระเบื้องหลังคาแบบเรียบ ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องทำหลังคาซึ่งมีองศาต่ำกว่าที่กำหนดจริงๆ อาจใช้วิธีปูแผ่นรองกันรั่วใต้หลังคา (Roof Sarking) เพื่อลดความเสี่ยงต่อการรั่วซึม
กรณีต้องการลดปัญหาเรื่องสนิมและมาตรฐานการติดตั้ง อาจหันมาเลือกใช้โครงหลังคาแบบสำเร็จรูป ในลักษณะโครงถัก หรือที่เรียกว่า “โครง Truss” มีน้ำหนักเบา ตัววัสดุเคลือบสารป้องกันสนิม (เคลือบกัลวาไนซ์ หรืออลูมิเนียมซิงค์ / แมกนีเซียมซิงค์) มีการประกอบชิ้นส่วนที่ได้มาตรฐานจากโรงงาน ก่อนจะนำมาติดตั้งที่หน้างาน เป็นการช่วยลดระยะเวลาที่ชิ้นส่วนโครงสร้างจะต้องตากแดดตากฝนได้ด้วย
2. ปัจจัยจากกระเบื้องหลังคา
แม้จะมีโครงสร้างหลังคาที่ได้มาตรฐาน แต่ก็อาจเกิดการรั่วซึมกลางผืนหลังคาได้ด้วยปัจจัยจากตัวกระเบื้องหลังคา เริ่มตั้งแต่การมุงกระเบื้องที่ผิดวิธี เช่น เรียงกระเบื้องไม่พอดีกัน ระยะซ้อนทับน้อยเกินไป รวมถึงเทคนิคการมุงแต่ละรุ่นที่แตกต่างกัน อย่างกระเบื้องบางรุ่นจะต้องมุงแนวสลับ บางรุ่นใช้วิธีมุงซ้อนแนวตรงกันโดยมีการตัดมุมกระเบื้อง เป็นต้น กระบวนการเหล่านี้ หากทำไม่ถูกต้องตามคู่มืออาจเกิดช่องให้น้ำไหลย้อนเข้าใต้กระเบื้องได้
อีกสาเหตุที่ไม่ควรมองข้ามคือ การเจาะยึดอุปกรณ์บนหลังคาผิดวิธีจนเกิดรูรั่วที่กระเบื้องหลังคา ส่วนใหญ่มักเกิดกับอุปกรณ์ประเภทเสาอากาศ จานรับสัญญาณดาวเทียม แผงโซล่าร์เซลล์ เป็นต้น ในส่วนนี้ เจ้าของบ้านอาจเลือกซื้อชุดอุปกรณ์ซึ่งรวมบริการติดตั้งที่น่าเชื่อถือ นอกจากนี้ กระเบื้องหลังคาบางรุ่นยังมีชุดอุปกรณ์หลังคาแบบพิเศษ เช่น ชุดกระเบื้องสำหรับรับจานดาวเทียมโดยเฉพาะ เป็นต้น ที่จะช่วยลดปัญหารั่วซึมจากการเจาะกระเบื้องหลังคาได้
นอกจากนี้ ต้นเหตุปัญหาหลังคารั่วบางครั้งอาจเกิดจากอุบัติเหตุ เช่น ช่างมุงเผลอเหยียบโดนกระเบื้องหลังคาจนแตกร้าว หรือ เกิดลมพัดแรงจนกระเบื้องหลุดเผยอ สำหรับการป้องกันกรณีลมพัดกระเบื้องนั้น ควรยึดด้วยวัสดุที่มีคุณภาพ ทนทาน ไม่เป็นสนิมง่าย รวมถึงการใช้วัสดุอุปกรณ์หลังคาและวิธีติดตั้งที่ถูกต้อง ซึ่งแตกต่างกันไปสำหรับกระเบื้องหลังคาแต่ละรุ่น เช่น บางรุ่นใช้ขอยึด บางรุ่นยึดสกรูทุกแถว บางรุ่นยึดสกรูเพียงแถวเว้นแถว เป็นต้น ทั้งนี้อาจใช้วัสดุช่วยยึดเพิ่มเติม (ซึ่งมีเฉพาะกระเบื้องบางรุ่น) เช่น “ขอยึดกระเบื้อง” สำหรับยึดปลายกระเบื้องแถวบนเข้ากับแถวล่างเพื่อเพิ่มความแน่นหนา หรือ “ขอยึดเชิงชาย” ที่ผลิตมาสำหรับยึดกระเบื้องแถวแรกเข้ากับเชิงชายโดยเฉพาะ เป็นต้น
มาถึงตอนนี้ เจ้าของบ้านคงได้ทราบแล้วว่า หลังคาบ้านมีจุดเสี่ยงให้เกิดการรั่วซึมได้มากมายทั้งบริเวณรอยต่อ และบริเวณผืนหลังคา ซึ่งการแก้ไขมักเป็นเรื่องยุ่งยาก เนื่องจากหลังคาเป็นตำแหน่งที่สูงที่สุดของบ้าน ยิ่งกรณีต้องรื้อกระเบื้อง หรือซ้ำร้ายกว่านั้น ต้องรื้อแป รื้อโครงสร้างทำใหม่ จะยิ่งลำบากมาก อาจถึงขั้นต้องย้ายที่อยู่ชั่วคราวกันเลยทีเดียว ดังนั้น ในขั้นตอนการออกแบบและก่อสร้างบ้าน เจ้าของบ้านจึงควรให้ความใส่ใจในรูปแบบหลังคา การเลือกวัสดุอุปกรณ์หลังคาที่เหมาะสม มีคุณภาพ (จะให้ดีควรเลือกชุดที่ผลิตมาสำหรับรุ่นหลังคานั้นๆ ) รวมถึงใช้บริการติดตั้งจากทีมช่างผู้ชำนาญและมีมาตรฐานในการทำงาน เพื่อลดความเสี่ยงต่อปัญหาหลังคารั่ว ตั้งแต่ต้นให้ได้มากที่สุด
ขอบคุณบทความดีๆ จาก : SCG experience
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น